หมวดหมู่ - แพ่ง
ข้อเท็จจริง
ข้าพเจ้าเป็นแพทย์ประจำคลินิกความงามโดยมีการตกลงรายละเอียดการทำงานผ่านทางสื่อออนไลน์ (ไลน์) โดยทำงานสามวันต่อสัปดาห์ เวลาบ่ายโมงถึงสองทุ่ม ต่อมาถูกเลิกจ้าง ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำฟ้องเพื่อเรียกค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายและเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน อย่างไรก็ดี ศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 โดยให้เหตุผลว่าการทำงานของข้าพเจ้าเป็นการจ้างทำของ
ข้าพเจ้าจึงได้ทำการยื่นคำร้องขยายเวลาอุทธรณ์ โดยอุทธรณ์ได้ถึงวันสุดท้ายในวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยข้าพเจ้าเข้าใจว่าการอุทธรณ์ทำได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น
ประเด็นคำถาม
ข้าพเจ้าจะสามารถทำการอุทธรณ์ได้หรือไม่ และจะมีแนวทางในการอุทธรณ์อย่างไร
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575, 587
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5(1) (2), 118(1) (2) (3) (4) (5)
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54, 56
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
ข้อเท็จจริง
เมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน ตาของข้าพเจ้า (ผู้ขาย) ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกับน้องชาย (ผู้ซื้อ) โดยการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือ เพียงแต่มีการทำหลักฐานการซื้อขายลงในสมุดธรรมดาเท่านั้น ประกอบกับไม่ได้มีการจดทะเบียนโอนที่ดินส่วนที่ตกลงซื้อขายกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้มีเพียงผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นเป็นพยานในการทำสัญญาดังกล่าวเท่านั้น เวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ ตาของข้าพเจ้า น้องชายของตา และผู้ใหญ่บ้านได้เสียชีวิตลงไปแล้ว และที่ดินผืนดังกล่าวเป็นที่ดินที่ว่างเปล่าไม่ได้มีผู้ใดเข้าไปใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ดี ลูกชายของผู้ซื้อได้ติดต่อมายังป้าของข้าพเจ้า ให้โอนที่ดินให้แก่ตนตามที่ได้เคยมีการทำสัญญาซื้อขาย
ประเด็นคำถาม
ป้าของข้าพเจ้าจะต้องโอนที่ดินดังกล่าวไปตามที่ลูกชายของผู้ซื้อเรียกร้องหรือไม่
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139, 172, 193/9, 193/10, 193/30, และ 456
ข้อเท็จจริง
ข้าพเจ้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และได้เดินทางกลับบ้านตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา-19 (COVID-19) ข้าพเจ้าไม่ต้องมีหน้าที่ในการแจ้งแก่เจ้าหน้าที่หรือต้องมีเอกสารรับรองแต่อย่างใด แต่ในเวลาต่อมาผู้ใหญ่บ้านได้กล่าวหาว่าข้าพเจ้าไม่มีความรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านโพสต์ข้อความและแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กในลักษณะกล่าวหาว่าข้าพเจ้าว่า เป็นคนแพร่เชื้อเพราะไม่มีการไม่กักตัวจนทำให้เป็นที่รับรู้ในหมู่บ้านที่ผู้ขอคำปรึกษาอาศัยอยู่ ส่งผลให้ชาวบ้านในหมู่บ้านเกิดความรังเกียจและดูถูกครอบครัวของข้าพเจ้ารวมถึงตัวผู้ข้าพเจ้าด้วย แม้ว่าหลังเดินทางกลับมาข้าพเจ้าได้สังเกตอาการมาแล้วมากกว่า 14 วัน พบว่าไม่แสดงอาการและไม่พบว่าอุณหภูมิสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ข้าพเจ้าจึงได้นำผลการตรวจนี้ไปแจ้งแก่ผู้ใหญ่บ้านแต่ผู้ใหญ่บ้านก็ยังไม่ยอมรับและต้องการให้มีการตรวจหาโรคเพื่อยืนยันซึ่งการตรวจดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถไปตรวจเช่นนั้นได้เพราะฐานะทางการเงินของครอบครัว นอกจากนี้ยังถูกผู้ใหญ่บ้านกล่าวหาอีกว่า ข้าพเจ้าไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นผู้ไม่มีความรู้ในการดูแลตัวเอง ทั้งนี้ ข้าพเจ้าได้มีการรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำเหล่านี้ไว้บางส่วนแล้ว
ประเด็นคำถาม
ข้าพเจ้าสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างกับบุคคลที่กระทำเช่นนั้น
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423
ข้อเท็จจริง
เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้ ข้าพเจ้ามีข้อสงสัยว่ากรณีที่บุคคลได้ทำประกันชีวิตกับตัวแทนบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง โดยที่บุคคลดังกล่าว (ผู้เอาประกัน) ปกปิดเรื่องนี้เป็นความลับต่อทางทางครอบครัว โดยข้อเท็จจริงไม่ชัดเจนว่าผู้เอาประกันทราบเกี่ยวกับการปกปิดดังกล่าวหรือไม่
เมื่อกรมธรรม์ครบสัญญา 20 ปี ตัวแทนบริษัทประกันชีวิตได้โทรศัพท์ไปยังบ้านของผู้เอาประกัน แต่ผู้เอาประกันไม่อยู่ ตัวแทนบริษัทประกันชีวิตจึงได้แจ้งกับพี่ชายผู้เอาประกัน เรื่องเงินครบกำหนดสัญญา รวมถึงจำนวนเงินที่ผู้เอาประกันจะได้รับจากกรมธรรม์นั้น เมื่อผู้เอาประกันกลับถึงบ้าน พี่ชายจึงได้สอบถามถึงเรื่องการทำสัญญาประกันชีวิต ทำให้ผู้เอาประกันรู้สึกไม่พอใจต่อการกระทำของทางตัวแทนบริษัทประกันชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะเงินที่ผู้เอาประกันจะได้รับจากการส่งเบี้ยประกันชีวิตตลอด 20 ปีนั้น อาจต้องตกเป็นกองกลางของครอบครัวไป ซึ่งเป็นข้อตกลงในครอบครัว
ประเด็นคำถาม
1. ข้อมูลการทำประกันชีวิตที่ทางตัวแทนของบริษัทได้แจ้งกับพี่ชายของผู้เอาประกันนั้นถือเป็นการละเมิดในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลกับบุคลที่สาม หรือมีความเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายมาตราอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ อย่างไร
2.หากผู้เอาประกันได้ตกลงกับตัวแทนบริษัทประกันชีวิตในเรื่องเกี่ยวกับการปกปิดข้อมูลเป็นความลับกับทางครอบครัว ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร
ข้อกฎหมาย
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 4 และมาตรา 6
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 และ 222
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องต้องการขายที่ดินที่อยู่ในจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้ร้องและพี่น้องของผู้ร้อง แต่เนื่องจากเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนหนึ่งยังมีสถานะเป็นผู้เยาว์ มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านที่จังหวัดปราจีนบุรี และอาศัยอยู่กับมารดา ปัจจุบันบิดาและมารดาของผู้ร้องแยกกันอยู่ โดยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า
ประเด็นคำถาม
- ขั้นตอนและวิธีการขายอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย ซึ่งมีผู้เยาว์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย
- เขตอำนาจศาลในการยื่นคำร้อง
- ต้องได้รับความความยินยอมจากบิดาของผู้เยาว์หรือไม่
- ตัวอย่างการเขียนคำร้องและความจำเป็นในการว่าจ้างทนายความ
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501, 1514, 1515, 1566, 1574 (1)
ซื้อคอนโดที่หัวหิน กำหนดเสร็จเดือนมีนาคม 2563 และผ่อนดาวน์กับโครงการใกล้ครบสัญญา แต่ปรากฎว่าโครงการสร้างได้แค่ 30%
ประเด็นคำถาม
สามารถเรียกเงินที่ดาวน์และเงินที่ได้ผ่อนชำระไปแล้วทั้งหมดคืนจากทางโครงการได้หรือไม่
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377, 378 (3), 388 และ 391
ข้อเท็จจริง
สัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 6 มิถุนายน 2553 มีข้อกำหนดการผ่อนชำระเป็นระยะเวลา 6 ปี โดยมีระยะเวลาปลอดเงินต้น 24 เดือน อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3.0 ต่อปี กำหนดชำระคืนดังนี้
ปีที่ 1 - 2 ชำระเฉพาะดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น
ปีที่ 3 เป็นต้นไป ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 20,000 บาท 72 เดือน นับตั้งแต่เดือนที่ผู้กู้ได้เบิกเงินกู้เป็นต้นไป หากผู้กู้ผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 10 ต่อปี
ทั้งนี้ ผู้กู้เบิกเงินกู้ทั้งหมดตามสัญญากู้ครั้งเดียวในวันที่ 8 มิถุนายน 2553 โดยผ่อนชำระแล้ว 6 งวด ดังนี้
งวดแรก 30 มิถุนายน 2553
งวดที่สอง 30 กรกฎาคม 2553
งวดที่สาม 31 สิงหาคม 2553
งวดที่สี่ 30 กันยายน 2553
งวดที่ห้า 30 ตุลาคม 2553
งวดที่หก 30 พฤศจิกายน 2553
ผู้ร้องมีการชำระหนี้อีกครั้งในวันที่ 11 ตุลาคม 2554 เป็นเงินจำนวนหนึ่ง และผู้กู้ก็ไม่ได้ชำระหนี้อีกเลยจนกระทั่งปัจจุบัน
ก่อนฟ้องผู้ให้กู้ได้ติดตามทวงถามให้ผู้กู้ชำระหนี้หลายครั้ง แต่ผู้กู้เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ผู้ให้กู้มีหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาถึงผู้กู้ทราบหนึ่งเดือนก่อนฟ้องคดี หลังจากนั้นผู้ให้กู้ฟ้องผู้กู้ฐาน "ผิดสัญญากู้ยืมเงิน เรียกให้ชำระหนี้" เป็นคดีต่อศาลแพ่ง วันที่ 27 สิงหาคม 2562 โดยให้ผู้กู้ชำระเงิรกู้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ และยังเรียกให้ชำระดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 10 ต่อปีของต้นเงินกู้นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
ภายหลังฟ้องคดี จำเลย(ผู้กู้) ยื่นคำให้การ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 โดยให้การว่าคำฟ้องของโจทก์ (ผู้ให้กู้) ขาดอายุความ กล่าวคือ จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย วันที่ 11 ตุลาคม 2554 อายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ครบกำหนด วันที่ 31 ตุลาคม 2559 แต่โจทก์ฟ้องวันที่ 27 สิงหาคม 2562 คำฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ศาลยกฟ้อง
ประเด็นคำถาม
- ฟ้องคดีของโจทก์ ขาดอายุความตามที่จำเลยอ้างใช่หรือไม่
- เนื่องจากสัญญากู้เงินกำหนดให้ผ่อนชำระคืนเงินเป็นงวดๆ งวดใดที่จำเลยไม่ชำระเงินงวดนั้นตามสัญญาเงิน และโจทก์มีสิทธิทวงถามแต่ไม่ได้ใช่้สิทธิจนกระทั่งสิทธิที่จะขอรับเงินงวดนั้น เกิน 5 ปี
เฉพาะเงินงวดนั้นใช่หรือไม่ที่ขาดอายุความ ส่วนเงินงวดอื่น ๆ ที่ยังไม่เกินกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่โจทก์มีสิทธิทวงถาม ยังไม่ขาดอายุความใช่หรือไม่ โจทก์ยังมีสิทธิที่จะเรียกร้องคืนได้ใช่หรือไม่
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12, 193/14 (1), 193/33 (1) (2), 204 วรรคสอง, 381 และ 383 วรรคหนึ่ง
ข้อเท็จจริง
ข้าพเจ้าซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่จากศูนย์บริการโทรศัพท์ในราคา 3,999 บาท โดยพนักงานขายได้สอบถามว่าข้าพเจ้าพอใจในบริการและสินค้าหรือไม่ ข้าพเจ้าจึงตอบว่าต้องการซื้อโทรศัพท์รุ่นนี้แต่เป็นอีกสีหนึ่งพร้อมกับยื่นเงินจำนวน 4,000 บาท และบัตรประจำตัวประชาชนให้พนักงานขาย พนักงานขายจึงทอนเงินให้ผู้ร้องและขอถ่ายรูปการส่งมอบโทรศัพท์เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย ในวันซื้อขายดังกล่าวข้าพเจ้าไม่ได้ตรวจสอบสินค้าว่ามีใบประกันสินค้าและสัญญาซื้อขายหรือไม่ แต่หลังจากที่เปิดใช้งานโทรศัพท์กลับพบว่ามีการลงทะเบียนใช้แอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก (Facebook) และอีเมล (G-Mail) เรียบร้อยแล้ว
ประเด็นคำถาม
- ข้าพเจ้าจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 หรือไม่
- ข้าพเจ้าสามารถแจ้งความเกี่ยวกับการกระทำความผิดของพนักงานขายได้หรือไม่ และเป็นความผิดฐานใด
ข้อกฎหมาย
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159, 175, 176, 178, 181
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96, 341
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 5, 7, 9 และ 10
ข้อเท็จจริง
บิดาของข้าพเจ้าโอนที่ดินให้แก่ข้าพเจ้าโดยเสน่หาจำนวน 2 ไร่ตั้งแต่ปี 2549 หลังจากนั้นข้าพเจ้าจึงได้นำที่ดินที่ได้รับมาไปจำนองประกันหนี้เงินกู้ยืมจากสหกรณ์ในปี 2552 เพื่อนำเงินจำนวนดังกล่าวมาใช้ในการปลูกสร้างบ้าน 1 หลังตลอดจนสิ่งปลูกสร้างอื่นลงในที่ดินข้างต้น
ประเด็นคำถาม
- บิดาของข้าพเจ้าสามารถฟ้องร้องเรียกที่ดินแปลงดังกล่าวคืนจากข้าพเจ้าได้หรือไม่
- หากภรรยาของข้าพเจ้าซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวต่อจากข้าพเจ้าจะถือว่ามีการเปลี่ยนมือผู้เป็นเจ้าของหรือไม่
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องเช่ารถแล้วถูกโกงเงินค่ามัดจำ
ประเด็นคำถาม
ผู้ร้องสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง