หมวดหมู่ - แพ่ง
ข้อเท็จจริง คุณพ่ออายุ 75 ปี เคยมีประวัติเป็นโรคประจำตัวเมื่อ5-6 ปีที่แล้วแต่ได้ทำการรักษาจนอาการเกือบเป็นปกติแล้ว โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ( พ.ศ 2554-2555 ) ไม่เคยเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับโรคไตเลยมีเพียงไปทำการตรวจเช็คและรับการรักษาเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงเป็นประจำ ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 25555 มีผู้นำอาหารเสริมมาจำหน่ายให้ หลังจากรับประทานไป 5-6วัน เกิดอาการไตวายเฉียบพลัน จนต้องนำส่งไปรักษาตัวในโรงพยาบาล จนอาการปลอดภัย โดยเสียค่ารักษาไปเป็นจำนวนมากจากการสอบถามและตรวจสอบข้อมูล พบว่าพนักงานขายได้แนะนำให้รับประทานในปริมาณที่มากว่าที่ระบุไว้ด้านช้างกล่องหลายเท่า เลยทำให้เกิดผลข้างเคียงจนเกิดอาการไตวาย โดยมีหลักฐานเป็นลายมือเขียนแนะนำปริมาณการกินและมีพนักงานขายอีกคนหนึ่งอยู่ในระหว่างที่แนะนำด้วย
ประเด็นคำถาม
1. เราสามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากพนักงานที่แนะนำให้รับประทานเกินขนาดได้หรือไม่
2. หากไม่สามารถเรียกร้องจากพนักงานขายได้ สามารถร้องเรียนไปทางบริษัทเพื่อให้รับผิดชอบได้หรือไม่
3. หากทั้งพนักงานและบริษัทไม่รับผิดชอบ เราสามารถร้องเรียนหรือฟ้องร้องได้หรือไม่ และจะต้องร้องเรียนหรือฟ้องร้องกับหน่วยงานใด
ข้อเท็จจริง หากดิฉันและสามีจะยกบุตรสาวอายุ 17 ปี ให้เป็นบุตรบุญธรรมของน้องชาย ( สมรสแล้ว )เพื่อให้เป็นผู้ปกครองในการค้ำประกันการรับทุนเรียนต่างประเทศ เนื่องจากดิฉันและสามีได้มีภาระผูกพันการค้ำประกันการรับทุนในต่างประเทศของบุตรคนโตไว้แล้ว จึงอยากปรึกษาว่า
ประเด็นคำถาม
1. ในทางกฎหมายจะต้องทำอย่างไรบ้าง ใช้เวลาดำเนินการนานเพียงใด (โดยทางปฏิบัติ ดิฉันก็ยังคงคูแลบุตรสาวเองเพียงแต่ว่าในการทำสัญญารับทุนนั้น เขาระบุว่าถ้าเป็น เด็กต่างชาติ ผู้ค้ำประกันต้องเป็นพ่อแม่เท่านั้นที่ค้ำประกันได้ และพ่อแม่ต้องไม่มีภาระค้ำประกันอื่นใดอยู่) และมีข้อกฎหมายใดที่ต้องคำนึงถึงอีกบ้าง
2. อนึ่ง หากในภาคหน้า เช่นเมื่อเรียนจบหรือใช้ทุนจบ ดิฉันจะสามารถขอรับบุตรคืนหรือยกเลิกการยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมได้หรือไม่
ข้อเท็จจริง ผมได้ซื้อตึกแถวจากผู้หญิงคนหนึ่งโดยมีการตกลงกันด้วยวาจามีรายละเอียดดังนี้ ราคา ตึก 1,800,000 บาท ผู้ขายจ่ายค่าโอนและทุบฟุตบาททางเท้าออกให้ผู้ซื้อ ต่อมามีการเจรจาต่อรองราคาลงมาเหลือ 1,400,000 บาท ซึ่งทางผมก็ด้องทำเรื่องกู้ธนาคารและได้จ่ายเงิน 1,400,000 บาทให้ผู้ขายไปหมดแล้ว ต่อมาผมได้ทวงถามถึงเรื่องการทุบฟุตบาท ผู้ขายกลับบอกว่าลดราคาลงมามากแล้ว เรื่องทุบฟุตบาทให้ไปทำเอง ผมรู้สึกว่าทำแบบนี้มันไม่ถูกต้อง จึงอยากขอคำแนะนำจากศูนย์นิติศาสตร์ว่ามีวิธีใดบ้างที่จะทำให้ผู้ขายทำตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้
ประเด็นคำถาม
มีวิธีใดบ้างที่จะให้ผู้ขายทำตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้ เพราะไม่ได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร มีแค่การตกลงกันด้วยวาจาเท่านั้น
ข้อเท็จจริง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 ผู้ร้องได้เบิกเงินกองกลางที่ผู้ร้องดูแลอยู่มาให้พี่ที่รู้จักกันยืมเงินจำนวน 2,000 บาท โดยได้เขียนสัญญากู้ยืมเงินระหว่างกันไว้ โดยมีกำหนดการคืนเงินทั้งหมดในเดือนตุลาคม 2555 ด้วยความเป็นพี่น้องกัน (แม้จะเป็นแค่ญาติกัน) ระหว่างผู้ร้องกับผู้ยืมเงิน ผู้ร้องไม่ต้องการให้เกิดเรื่องใหญ่โต
ประเด็นคำถาม
1.หากผู้ยืมเงินไม่คืนเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน ผู้ร้องสามารถดำเนินการประการใดได้บ้าง
2. ผู้ร้องสามารถดำเนินการทางกฎหมายได้หรือไม่ อย่างไร
ข้อเท็จจริง แฟนค้ำประกันให้คนรู้จักซึ่งเป็นพนักงานเงินรายได้ ประเภทประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยพนักงานคนดังกล่าวไม่ได้ชำระหนี้ทั้งๆที่มีรายได้ต่อเดือนมากพอที่จะขำระหนี้ และเหลือไว้สำหรับการใช้จ่ายประจำวัน ซึ่งค่างวดในการชำระหนี้เพียง 2,400 บาท/ เดือน ตลอดเวลาการทำสัญญาคือตั้งแต่ 13 กันยายน 2554 ดิฉันไม่ทราบว่าพนักงานคนนั้นไม่เคยชำระหนี้เลย โดยเมื่อเจอกันเค้ามักจะพูดเสมอว่า “ ไม่ต้องเป็นห่วงนะ พี่ไม่ทำให้เดือนร้อนหรอก “ จนกรทั่งเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2555 แฟนได้รับจดหมายให้ไปชำระหนี้จำนวน 1 แสนกว่าบาท ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกัน ดิฉันโทรไปสอบถามสาเหตุที่เค้าไม่ชำระหนี้ เค้าตอบว่า “ ไม่ต้องห่วงนะพี่ไปเคลียร์แล้ว พี่ไม่ทำให้เดือดร้อนหรอก “ดิฉันก็เชื่อ จนกระทั่งวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ก็มีหมายศาลมาติดหน้าบ้าน ดิฉันพยายามสอบถามผู้รู้กฎหมายและค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ ซึ่งสิ่งที่ได้มาคือไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้ค้ำประกัน ไม่ต้องใช้หนี้แทน หากมีระบุในสัญญาว่าต้องใช้หนี้แทนและไม่มีการร้องเรียนสิทธิในทางกฎหมายในกรณีใดๆ ( ซึ่งคิดว่าธนาคารก็มีสัญญาในลักษณะนี้ ) และต้องใช้หนี้แทนเค้าอยู่ดี ทั้งๆไม่ได้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวเลย และทั้งนี้ดิฉันสามารถไปไล่เบี้ยกับเค้าได้ในภายหลัง ซึ่งไม่รู้จะได้คืนหรือเปล่า เพราะขนาดเป็นธนาคารเป็นเจ้าหนี้เค้ายังไม่ยอมจ่ายเลย
ประเด็นคำถาม
1. หากพนักงานคนดังกล่าวมีเจตนาที่จะไม่ชำระหนี้และทำให้แฟนต้องเดือดร้อน โดยเจตนานั้น ดูจากรายได้ที่เค้าได้รับในแต่ละเดือน แฟนสามารถที่ขอรายละเอียดรายรับของเค้าจากหน่วยงานต้นสังกัดได้หรือไม่
2. การกระทำในลักษณะนี้ของพนักงานมีความผิดจรรยาบรรณของการเป็นพนักงานธรรมศาสตร์ได้หรือไม่
3. หากมีพยานหลักฐานยืนยันว่าเค้ามีเจตนาไม่ชำระหนี้ซึ่งทำให้แฟน ได้รับความเดือดร้อนและเสียเครดิตแฟนสามารถเอาผิดทางอาญากับเค้าได้หรือไม่
4. แฟนดิฉันเป้นพนักงานเงินรายได้ของ มธ. เหมือนกัน หากจะทำหนังสือไปแจ้งถึงพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าวและขอความร่วมมือจากหัวหน้าหน่วยงานให้มีคำสั่งให้เค้าชำระหนี้ได้หรือไม่
5. ในวันที่ 4 ก.พ.56 ศาลจะเรียกไปให้การและสืบพยานหากเค้าไม่ไปดิฉันก็ต้องชำระหนี้แทนเค้าจากข้อมูลที่ได้สืบค้นมา ซึ่งจำนวนเงินที่ต้องชำระแทน ดิฉันคงต้องเอารถไปเข้าไฟแนนท์ และค่าดำเนินการทุกอย่างด้วยหรือไม่ และหากเค้าไม่จ่ายจะทำอย่างไง มีสิทธิอายัดเงินค่าสำรองเลี้ยงชีพหรือค่าหุ้นสหกรณ์ที่เต้ามีอยู่ได้หรือไม่
ข้อเท็จจริง ศาลมีคำสั่งให้ผมและแม่เป็นผู้จัดการมรดกของพ่อ ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 แต่แม่ไม่ให้ผมจัดการทรัพย์สิน ใดๆ ของพ่อ แต่แม่ไปจัดการเองคนเดียว ไม่ว่าจะเป็น บ้าน, ที่ดิน, รถยนต์, บัญชีเงินฝาก เป็นต้น ผมเข้าใจว่าแม่มีปัญหาทางจิต มีอาการทางประสาท ชอบพูดคนเดียว อาละวาด ทำร้ายร่ายกายผมด้วย แต่แม่ไม่ยอมรับความจริง ขอปรึกษาทางศูนย์นิติศาสตร์ว่าควรทำอย่างไร
ประเด็นคำถาม
ข้อ.1 มีหน่วยงานไหนบ้างที่จะพูดกับแม่ของผมให้ทำในเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายได้บ้างและทางศูนย์นิติศาสตร์ช่วยหาทนายความดำเนินการเรื่องนี้ได้หรือไม่
ข้อ.2 จะพาแม่ไปพบหมอที่ไหนหรือให้หมอที่ไหนมารับตัวแม่ไปรักษาโรคทางจิตได้บ้าง และต้องการมาปรึกษาที่ศูนย์นิติศาสตร์ได้หรือไม่อย่างไร
ข้อเท็จจริง พ่อผมจดทะเบียนกับแม่เลี้ยงและโอนที่ดินและบ้านให้ ต่อมาแม่เลี้ยงทำพินัยกรรมให้น้องชายและรับมาอยู่ในบ้าน ต่อมาพ่อป่วยหนักไปนอนโรงพยาบาลให้ผมเอาเสื้อผ้าในบ้าน น้องชายแม่เลี้ยงไม่ให้เข้าไปในบ้านและโยนเสื้อผ้าให้บอกว่าให้ไปตายที่โรงพยาบาล พ่อจึงโมโหขอเพิกถอนการให้ทางสำนักงานที่ดินบอกว่าต้องมีคำสั่งศาลถึงจะดำเนินการได้ จึงให้ผมฝ่ายโจทก์ฟ้องแม่เลี้ยง ต่อมาพ่อเสียชีวิตและแม่เลี้ยงก็เสียชีวิตตามหลักด้วยโรคมะเร็ง ศาลมีคำพิพากษาบอกให้จำเลยคืนบ้านและที่ดินให้โจทก์ แต่เนื่องจากเป็นสินสมรสจึงต้องการแบ่งแยกก่อน โจทก์ไม่มีสิทธิ์ขับไล่จำเลยออกจากบ้าน ผมจึงเข้าไปเจรจา แต่ฝ่ายน้องชายแม่เลี้ยงยืนยันไม่ออกจากบ้านและไม่ยอมให้ขายบ้านและที่ดินดังกล่าว เพราะในโฉนดที่ดินและบ้านแม่เลี้ยงมีเจ้าของ เขาจึงท้าให้ผมทำคำสั่งศาลมาใช้บังคับขับไล่ ผมจึงปรึกษากับสำนักงานที่ดินว่า จะทำอย่างไรให้โฉนดที่ดินและบ้านเป็นชื่อผม ทางสำนักงานที่ดินแนะนำให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้วนำคำสั่งนี้มาให้สำนักงานที่ดินเพื่อเสนออธิบดีกรมที่ดินพิจารณาอีกที ผมจึงทำตามที่สำนักงานที่ดิน และสุดท้ายก็ได้มีชื่อโฉนดเป็นผู้จัดการมรดก ก็เข้าไปเจรจากับน้องชายแม่เลี้ยงอีกรอบว่าจะขายบ้านและที่ดินและนำเงินมาแบ่งปัน ผลปรากฏว่าเหมือนเดิม เขายืนกรานเหมือนเดิม จึงเรียนปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี
ประเด็นคำถาม
1.จะรื้อบ้านได้ไหมครับเพราะบ้านเป็นชื่อผม
2.จะขอคำสั่งบังคับให้ขายทรัพย์สินดังกล่าวได้หรือไม่
ข้อเท็จจริง ดิฉันกับเพื่อนได้เข้าหุ้นจดทะเบียนบริษัทโดยถือหุ้น 35 %ลงทุนเป็นอุปกรณ์สำหรับดำเนินกิจการทั้งหมด ตีราคา 400,000 บาท โดยอ้างว่ามีประสบการณ์ในการบริหารสินค้าชนิดหนึ่งหุ้นส่วนอีกสองคนลงหุ้นเป็นเงินสด อัตราส่วน 40%เป็นเงิน 200,000 บาท และ 25%เป็นเงิน400,000 บาท ประกอบกิจการได้ประมาณ 10 วันมีรายได้เป็นที่น่าพอใจ เพื่อนต้องการจะจดทะเบียนเลิกบริษัทโดยไม่มีเหตุผลและให้ดิฉัน ออกไปจากร้านค้า และจะเข้าดำเนินการเอง โดยหลอกให้ดิฉัน มาดำเนินการจัดตั้งระบบและวางรูปแบบร้านและล้วงความลับจากสูตรและข้อมูลต่างๆ
ประเด็นคำถาม
ดิฉันจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรรมการทั้งสองได้หรือไม่และเรียกร้องค่าเสียหายจากแผนการฉ้อฉลได้หรือไม่
ข้อเท็จจริง มีปัญหาเหมือนชมรมหมู่บ้าน A ค่ะ แต่อยากจะเพิ่มเติมคำถามเกี่ยวกับการลงชื่อฟ้องคดีอาญาค่ะ
ประเด็นคำถาม
ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน สมาชิกลงชื่อฟ้องคดีอาญาไม่ครบทุกคน ศาลสามารถยกฟ้องได้หรือไม่
ข้อเท็จจริง เมื่อสิบปีที่ผ่านมาผู้ร้องได้เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศและได้เดินทางกลับมาภายหลังที่สามีผู้ร้องถึงแก่ความตาย ผู้ร้องจึงได้ทราบจากบุตรสาวของผู้ร้องว่าหลังจากสามีตายน้องเขยของผู้ร้อง (สามีน้องสาวผู้ร้อง) ได้สั่งให้บุตรสาวของผู้ร้องย้ายออกจากบ้านที่พิพาทโดยอ้างว่าสามีผู้ร้องได้ขายที่ดินและบ้านดังกล่าวให้กับตนแล้ว และน้องเขยได้นำที่ดินและบ้านไปจำนองเพื่อนำเงินมาทำธุรกิจของตน ทั้งนี้น้องเขยไม่ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่สามีของผู้ร้อง และน้องเขยได้ชำระเงินกู้คืนธนาคารเพียง 5-6 งวด แล้วหลังจากนั้นก็ไม่ได้ชำระอีก ธนาคารผู้รับจำนองเจ้าหนี้จึงได้ดำเนินคดีกับน้องเขย และได้มีการที่จะบังคับคดีนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด เมื่อผู้ร้องทราบจากบุตรสาวแล้ว ผู้ร้องจึงได้ยื่นฟ้องร้องน้องเขยของตนเป็นจำเลยที่ 1 ต่อศาล และได้มีการดำเนินคดีต่อมาจนกระทั่งศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนอง และต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนที่ดินพิพาท แต่ให้จำเลยที่ 1 น้องเขยไถ่ถอนจำนองเพื่อให้ที่ดินพิพาทปลอดภาระจำนองตามสภาพที่เป็นอยู่เดิมก่อนการจดทะเบียนการซื้อขายนั้น หลังจากศาลฎีกาได้พิพากษาคดี ผู้ร้องได้ไปติดต่อกรมที่ดิน กรมที่ดินทำหนังสือบันทึกความเห็นโดยจะดำเนินการเพิกถอนโดยให้มาเป็นชื่อของน้องเขยก่อนและอีก 45 วันจะดำเนินการเปลี่ยนเป็นชื่อสามี แต่ห้ามโอนและต้องติดภาระจำนอง
ประเด็นคำถาม
1. การที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกาจะมีผลอย่างไร
2. กรณีหากธนาคารผู้รับจำนองที่ดิน จำเลยที่ 2 ไม่ติดตามหนี้จากจำเลยที่ 1 จะมีผลอย่างไร
3. กรณีถ้าธนาคารเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดียึดทรัพย์ไม่แล้วเสร็จภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษา ธนาคารเจ้าหนี้จะสามารถบังคับคดีต่อไปได้หรือไม่