หมวดหมู่ - อาญา
ข้อเท็จจริง คดีอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแห่งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน กรุงเทพฯ พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนและส่งสำนวนการสอบสวนให้แก่พนักงานอัยการ สุดท้ายพนักงานอัยการแจ้งว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน หลังจากนั้นอีก 1 ปี ผู้เสียหายแจ้งดำเนินคดีครั้งที่สองในท้องที่เกิดเหตุ
ประเด็นคำถาม
1.หากการสอบสวนครั้งที่ 2 ใช้สำนวนการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันซึ่งพนักงานอัยการแจ้งว่าพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน อยากทราบว่าสำนวนการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เป็นสำนวนการสอบสวนที่ชอบหรือไม่
2.พนักงานสอบสวนที่เกิดเหตุจะใช้สำนวนเก่า (สน.ปทุมวัน) เพื่อส่งให้พนักงานอัยการท้องที่อีกครั้งได้หรือไม่
3.เนื่องจากการร้องทุกข์ครั้งที่ 2 เลยระยะเวลาที่ผู้เสียหายรู้หรือทราบการหมิ่นประมาทเกิน 3 เดือนถือว่าขาดอายุความหรือไม่
ข้อเท็จจริง ผู้ร้องมีน้องสาว (เกิดปี พ.ศ.2521) อยู่บ้านเดียวกัน นอนห้องเดียวกัน ชอบทำลายทรัพย์สินของผู้ร้องเป็นประจำ เวลากลับมาจากที่ทำงานก็เล่นแต่เกมส์คอมพิวเตอร์ แล้วก็นอนดู IPadจนหลับทุกวัน น้ำก็อาบ 2 วันครั้งอยู่บ้านอย่างสุขสบายพ่อแม่ไม่สามารถทำอะไรได้ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 ผู้ร้องกับน้องสาวได้ทะเลาะมีปากเสียงกัน น้องสาวได้กระชากสายไฟโทรทัศน์ ตัดสายไฟทิ้ง และทำลายทรัพย์สินของผู้ร้อง และได้ขู่ฆ่าผู้ร้องว่า “ให้ระวังตัวไว้ จะนอนหลับไม่ได้ตื่นขึ้นมาอีก โดยวันใดวันหนึ่งจะเอามีดมาปาดคอดิฉัน”และเมื่อวันอังคารที่ 10 กรกฎาคม 2555 น้องสาวได้พูดว่า “หากพ่อแม่ผู้ร้องเสียชีวิตเมื่อไร จะจุดไฟเผาบ้านให้ตายกันให้หมด”
ทุกวันนี้ผู้ร้องต้องนอนผวา นอนดึก ตื่นเช้าทุกวัน เพราะน้องสาวเปิด IPad เสียงดังมากจนนอนไม่ได้ ต้องนอนประมาณเกือบตี 2 และตื่นนอนเพราะเสียง IPad ตอนเวลา 6.30 น.เป็นประจำทุกวัน
ประเด็นคำถาม
1.ผู้ร้องสามารถแจ้งความว่าถูกขู่ฆ่าได้หรือไม่ และถ้าต้องไปแจ้งความต้องไปแจ้งความที่ท้องที่ใด
2.ในกรณีที่ผู้ร้องเห็นว่าน้องสาววิกลจริตสามารถร้องต่อศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้หรือไม่
3.หากผู้ร้องไม่สามารถดำเนินการตามประเด็นคำถามที่ 1 และที่ 2 ได้นั้นผู้ร้องจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ( ที่ว่าปัจจุบันผู้ร้องนอนวันละ 4 ชั่วโมง จะนอนได้นานก็เฉพาะวันหยุดของผู้ร้องที่น้องสาวไปทำงาน และผู้ร้องจะย้ายออกไปที่อื่น ก็ไม่มีที่จะไป และเป็นห่วงพ่อแม่ด้วย)
ข้อเท็จจริง ผู้ร้องทำงานในโรงงานแห่งหนึ่ง อยู่ในฝ่ายบุคคล(HR)โดยมีภาระงานหลักเป็นเป็นพนักงานฝึกอบรม ต่อมา เจ้าหน้าที่ HR ที่มีภาระเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่พนักงานลาออก ผู้ร้องจึงได้รับมอบหมายให้ปฎิบัติงานในหน้าที่ไปก่อนจนกว่าจะรับพนักงานใหม่
ในการปฏิบัติหน้าที่เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้น มีวิธีการเบื้องต้นคือ
1.พนักงานบริษัทต้องมายื่นบิลเบิกค่ารักษาพยาบาลและเอกสารให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายHR
2.จากนั้นเจ้าหน้าที่ HR จะต้องส่งเรื่องให้แก่หัวหน้าฝ่าย HR อนุมัติให้เบิกเงิน
3.หลังจากนั้นก็ส่งเอกสารไปให้ฝ่ายการเงินตรวจสอบ และอนุมัติ
4.ส่งเอกสารหัวหน้าฝ่ายการเงินที่สำนักงานใหญ่ตรวจสอบ หัวหน้าฝ่ายการเงินอนุมัติ
5.เมื่อมีการอนุมัติจากผู้บริหาร ฝ่ายการเงินจะโอนเข้าบัญชีโรงงาน และฝ่ายเจ้าหน้าที่การเงินโรงงานจะเบิกเงินและส่งให้กับเจ้าหน้าที่ HR และจะนำเงินมาให้กับพนักงานที่ยื่นเบิกค่ารักษาพยาบาลต่อไป
แต่ในทางปฎิบัติจะมีการเบิกเงินหมุนเวียนจำนวน 5,000 บาท เพื่อสำรองจ่ายให้แก่พนักงานไปก่อน และจะดำเนินการตามขั้นตอน 1-5 ในช่วงก่อนสิ้นเดือน เพื่อตรวจสอบยอดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2553 ผู้ร้องได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ 1-5 โดยมียอดการเบิกจ่ายเงิน130,000 บาทซึ่งได้รับอนุมัติเงินมาเพื่อมาจ่ายคืนให้แก่พนักงาน และในเดือนดังกล่าวผู้ร้องได้สำรองเงินของตนเองให้แก่พนักงานไป 10,000 บาท เนื่องจากพนักงานคนดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน (ทั้งนี้ได้จ่ายเงินหมุนเวียนจำนวน 5,000 บาทให้แก่พนักงานคนอื่นๆที่มีความจำเป็นเร่งด่วนไปก่อนแล้ว) แต่ปรากฎว่า เมื่อจ่ายเงินให้แก่พนักงานสำหรับผู้ที่เบิกค่ารักษาพยาบาล( ที่ถูกน่าจะ เมื่อเบิกเงินให้แก่พนักงานที่มาเบิกค่ารักษาพยาบาลคนอื่นๆหมดแล้ว มียอดคงเหลืออยู่ 10,000 บาท)มียอดเบิกขาดไป 10,000 บาทที่ผู้ร้องได้คืนจากการใช้เงินของตนเองสำรองไปก่อน
ต่อมา ผู้ร้องได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ฝ่ายการเงินของโรงงานและสำนักงานใหญ่ทราบ เพื่อดำเนินการเบิกเงิน10,000 บาทคืนให้แก่ผู้ร้อง เมื่อฝ่ายการเงินตรวจสอบแล้วพบว่าเบิกจ่ายเงินขาดไปจริง จึงได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้ร้องในเดือนธันวาคม 2553 จำนวน 10,000 บาท
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 ผู้ร้องได้ลาออกจากบริษัท
และต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา หัวหน้าฝ่ายHRได้โทรแจ้งมายังผู้ร้องว่า การเบิกจ่ายเงินของผู้ร้องไม่ถูกต้อง(ได้รับแจ้งจากสำนักงานใหญ่) และจำเป็นต้องคืนเงินในส่วนดังกล่าวให้กลับไปอยู่ในบัญชีหมุนเวียนยอดเบิกค่ารักษาพยาบาลในแต่ละเดือนให้กลายเป็นยอด 15,000 บาท (ปกติ 5,000 บาท)
ผู้ร้องจึงชี้แจงไปว่า เงินจำนวน 10,000 บาท เป็นเงินที่ผู้ร้องสำรองไป แต่หัวหน้าฝ่าย HR แจ้งกลับมาว่า ผู้ร้องเข้าใจผิดและไม่มีเอกสารเบิกเงินที่ขาดในช่วงเดือนกรกฏาคม พ.ศ.2553 ตามที่ผู้ร้องอ้างถึง จึงต้องการให้โอนเงินคืน โดยวิธีการโอนให้โอนเข้าบัญชีของหัวหน้าฝ่าย HR เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากรณียักยอกเงินบริษัท โดยหัวหน้าฝ่าย HR จะแจ้งแก่ฝ่ายการเงินว่าตนเข้าใจผิด เงินจำนวน10,000 บาทไม่ได้หายไปไหนแต่อยู่ในบัญชีของตนเอง
ผู้ร้องคงไม่สามารถเข้าไปหาเอกสารการเบิกจ่ายที่ขาดไปได้ และนำมากล่าวโต้แย้งกับหัวหน้า HR และเจ้าหน้าที่การเงินสำนักงานใหญ่ ผู้ร้องจึงตอบกลับไปยังหัวหน้า HR ว่าจะโอนเงินคืนให้จำนวน 10,000 บาท
ประเด็นคำถาม
1.เนื่องจากในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2553 ที่ผู้ร้องยื่นเรื่องและตรวจสอบเอกสารแล้ว พบว่ามีการเบิกเงินขาดไป 10,000 บาทจริง จึงได้รับเงินกลับคืนมา ดังนั้น เป็นความรับผิดชอบหรือไม่ที่จะต้องคืนเงินแก่บริษัททั้งที่ฝ่ายการเงินในเวลานั้นตรวจสอบแล้วว่าเอกสารถูกต้อง
2.ผู้ร้องพ้นสภาจากการเป็นพนักงานของบริษัทมาแล้วกว่า 1 ปี ยังต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทอีกหรือไม่
3.ผู้ร้องตัดสินใจที่จะโอนเงินเข้าบัญชีของหัวหน้า HR จำนวน 10,000 บาท ถูกต้องหรือไม่ จะมีผลต่อการยักยอกเงินของบริษัทหรือไม่
ข้อเท็จจริง หนูยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สามของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งคะ เรื่องเกิดขึ้นกับแม่หนู มีคนเมาในหมู่บ้านเดินตรงมาที่บ้านหนูและตะโกนขอคุยกับแม่หนู ทั้งๆที่เราไม่เคยรู้จักกันเลย รู้แต่ว่าเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกันเท่านั้น ชายคนนั้นตะโดนเรียกชื่ออย่างสนิทสนม แม่กลัวไม่ออกไป จึงบอกไปว่ามีอะไรก็พูดออกมาเลย แต่ชายคนนั้นกลับไม่ยอมอยากคุยกับแม่ อยากให้แม่ออกมานอกบ้าน พอแม่ไม่ยอมออก ชายคนนั้นก็ขู่ว่า หากไม่ออกมา จะปีนเข้าไป ที่บ้านของหนูไม่มีผู้ชายเลยคะ เราอาศัยอยู่กันห้าคน มีแม่ ยาย พี่สาว หนู และตาที่ป่วยเป็นอัมพาต เรากลัวกันมาก เราไม่รู้ว่าชายคนนั้นต้องการอะไร บอกให้พูดออกมาเราจะฟัง เขาก็ไม่ยอม ตะโกนร้องแต่ให้แม่ออกไปหาเขา แล้วชายคนนั้นก็จะปีนเข้าบ้านมาจริงๆ ลุงที่อยู่ข้างบ้านเห็นก็ตะโกนบอกแม่ว่ามันกำลังจะปีนเข้าไป แม่โทรหาตำรวจ บอกว่ามีคนเมาบุกรุกเข้าบ้าน ตำรวจที่โรงพักบอกว่าจะรีบเดินทางมา แม่ก็ขู่ชายคนนั้นว่าตำรวจกำลังจะมา ชายคนนั้นจึงหยุดปีนและร้องเอะอะโวยวายประมาณว่า "มึงโทรหาตำรวจ ให้ตำรวจมาจับกูเหรอ กูจะฆ่ามึง มึงจำไว้อี..." แล้วมันก็เดินไปเดินมาตะโกนด่าแม่หนู ด่าด้วยคำหยาบคาย พวกเราโกรธมาก ไม่รู้ว่าชายคนนี้มาจากไหน จู่ๆก็มาด่า เวลาผ่านไปตำรวจก็ยังไม่มาถึง ชายคนนั้นก็เดินรอบบ้าน หมานี้เห่าเกรียวกราว แม่จึงโทรไปที่โรงพักอีกครั้ง ตำรวจที่รับโทรศัพท์บอกว่าส่งตำรวจมาแล้วให้รอหน่อย เรารอตั้งแต่ห้าทุ่มตามเวลาที่โทรแจ้งครั้งแรก จนเลยมาถึงตีสองไม่มีวี่แววของตำรวจสักนาย ในขณะที่ชายคนนั้นก็เมาร้องด่าแม่ซะไม่มีชิ้นดี และขู่ฆ่าตลอดเวลา เราโกรธทั้งคนเมาทั้งตำรวจ จึงโทรไปโรงพักอีกครั้ง คราวนี้แม่ร้องไห้ พูดว่า "ทำไมถึงยังไม่มา บอกว่าจะมาหลายรอบแล้วนะ ทำไมถึงไม่เห็นตำรวจสักคน ที่บ้านก็มีแต่ผู้หญิงกับคนป่วย ไอ้บ้านั่นก็ตะโกนด่า ขู่ฆ่า จะปีนเข้าบ้านอยู่หลายรอบ ทำไมไม่คิดว่าลองเป็นลูกหลาน เมีย หรือญาติของตัวเองบ้าน เขาจะกลัวขนาดไหน แล้วถ้ามันถือมีดมาฆ่าจริงๆจะทำไง" ตำรวจกลับตอบมาว่า "ก็หาอะไรไว้ป้องกันตัวก่อนสิ มีอะไรใกล้ๆมือก็หยิบเป็นอาวุธ ไว้พรุ่งนี้ตำรวจไปตอนเช้าก็ไม่สาย ยังไงก็จับได้อยู่แล้ว หรือถ้าจะมีคนตายก็ไว้มาทำคดีพรุ่งนี้ครั้งเดียวเลย" แม่จึงพุดออกไปอีกครั้งว่า "ตำรวจมีหน้าที่ช่วยประชาชนเมื่อเดือดร้อน และตอนนี้ประชาชนกำลังเดือดร้อน ทำไมตำรวจไม่มาช่วย ขอร้อง มาทีเถอะ" นั่นเหละคะ ตำรวจถึงมา แต่ก็เกือบตีสามแล้ว ชายคนนั้นจึงได้นอนในคุกหนึ่งวัน รุ่งเช้าแม่ไปแจ้งความไว้ที่โรงพัก ตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้ มารู้อีกทีว่าตอนบ่ายญาติๆ ของชายคนนั้นไปประกันตัวออกมา และแม่ชายคนนั้นโกรธพวกเรามากที่ไปจับลูกเขาเข้าคุก เราก็อธิบายให้ฟังวาทำไมถึงต้องจับ แต่แม่เขามีแต่ความโกรธ แล้วเราก็บอกว่าให้ชายคนนั้นที่ตอนนี้สร่างเมาแล้วมาคุยกันต่อหน้าทุกๆ เลย ว่าทำอย่างนั้นทำไม เพราะอะไร ไม่เข้าใจ แต่ชายคนนั้นหนีไปคะ ไปทำงานก่อสร้าง ไม่ยอมพูดว่าเพราะอะไร แล้วหลังจากนั้นเวลาที่มันเมามันก็จะมาทำพฤติกรรมแบบนี้เกือบสองปีแล้ว ตำรวจก็ไม่เคยมาอีกเลย บอกว่าไร้สาระ คนในหมู่บ้านรวมถึงพวกเราก็ไม่มีใครเข้าใจพฤติกรรมมัน มันประจานครอบครัวเราจนไม่มีชิ้นดี เราสร้างกำแพงไว้ให้สูงขึ้นอีกมันก็บอกว่า "อย่าคิดว่าสร้างใหม่แล้วจะขวางมันได้ แล้วมันก็หัวเราะเย้ย" จนเมื่อไม่นานมานี้ เรามีกล้องถ่ายวิดีโอ เราตั้งใจจะเอาผิดมันให้ถึงที่สุด ตั้งใจจะถ่ายเมื่อมันมาระรานเราอีก
ประเด็นคำถาม
1. ทางเราจะเอาผิดเรื่องอะไรได้บ้าง เราไม่ต้องการเงินเพราะชายคนนั้นคงไม่มีให้เพราะทำงานเป็นคนงานก่อสร้างได้เงินต่อวันก็ไม่เท่าไหร่
2. การที่เขามาพูดถึงครอบครัวเราเสียๆหายๆและคำพูดนั้นเราถ่ายคลิปไว้ได้ เราจะใช้กฎหมายไหนกับเขาได้บ้างคะ
3. ระรานกันมานานตลอดระยะเวลาเราไม่ได้นิ่งนอนใจ ทุกๆครั้งเราจะไปคุยกับญาติของมันที่บ้าน (ไม่เคยเจอตัวมันตอนที่มันมีสติสมบูรณ์สักที คล้ายๆกับพอลูกมีสติแม่ก็จะบอกลูกให้หนีไปที่อื่นสักพัก) เราอยากจะรู้ว่าเหตุใดเขาถึงทำแบบนี้ แค้นเคืองกันด้วยเรื่องอะไร ทั้งๆที่ไม่เคยคุยกัน ไม่เคยสนิทสนมกัน สาบานได้ ทำไงถึงจะรู้ความจริงคะ ต้องให้ตำรวจมาคุยหรือเปล่า (แต่มันไม่อยู่บ้านสักที กลับมาทีก็เมาแล้ว เมาก็มาด่าที่หน้าบ้านหนู)
4. การขู่ฆ่า ใช้กฎหมายไหนเล่นงานเขาได้บ้างคะ เรากลัวเนื่องจากเขาเป็นคนงานก่อสร้าง (ไม่ได้หมายความว่าคนกลุ่มนี้ไม่ดีนะคะ) และชายคนนี้มีเพื่อนที่เป็นคนงานก่อสร้างเหมือนกันที่เคยต้องคดีฆ่ามาก่อน
5. เราอยากให้เขาหยุดพฤติกรรมแบบนี้ เพราะมันทำให้เรากลายเป็นขี้ปากชาวบ้าน เสื่อมเสียชื่อเสียง ต้องทำไงคะ มีกฎหมายมาตราไหนใช้ได้บ้าง
6. เนื่องจากที่บ้านไม่มีผู้ชายหรือใครที่พอจะเป็นที่พึ่งให้เราได้ จึงอยากขอใบอนุญาตมีอาวุธ(ปืน)ไว้ครอบครองเพื่อป้องกันตัวเอง เพราะเรามีแต่ผู้หญิง ต้องทำไงคะ ใช้เวลานานหรือเปล่า
ข้อเท็จจริง ได้สั่งซื้อของผ่าน internet ผู้ขายได้จัดส่งโดยใช้บริการ ems ของทางบริษัทรับส่งสินค้าแต่พอวันที่ข้าพเจ้าได้รับพัสดุกลับได้เพียงกล่องเปล่า คือไม่มีพัสดุใดๆบรรจุอยู่ในกล่องเลย หลังจากมีหลักฐานชัดเจนแล้วว่าผู้ขายได้ส่งของมาจริง แต่เหตุที่ได้รับเพียงกล่องเปล่านั้นเพราะพนักงานบริษัทรับส่งสินค้าขโมยไป จึงได้ติดต่อร้องเรียนขอค่าชดใช้ค่าเสียหายไปยังบริษัทรับส่งสินค้า หลังจากวันที่เกิดเหตุประมาณ 2เดือน ผู้ดูแลเรื่องดังกล่าวได้สรุปค่าชดใช้เป็นเงิน 2000 บาท โดยแจ้งว่าเป็นกฎระเบียบของบริษัท พัสดุที่ไม่ได้ทำประกันสินค้าไว้ จะได้รับชดเชยค่าเสียหายสูงสุดเพียงเท่านี้ และต้องให้ผู้ส่งพัสดุเป็นผู้ไปติดต่อรับเงินค่าชดใช้เท่านั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการชดใช้ที่ไม่เป็นธรรม เพราะของที่หายไปมีมูลค่า 5200 บาท จึงปฎิเสธที่จะรับค่าชดใช้ดังกล่าวไป
ประเด็นคำถาม
1. หากต้องการแจ้งความฐานลักทรัพย์ ใครคือผู้ต้องรับผิดชอบ หัวหน้าสาขาบริษัทรับส่งสินค้า หรือบริษัทรับส่งสินค้า
2. หลังจากที่ผู้ขายทราบเรื่องที่เกิดขึ้นได้คืนเงินครึ่งหนึ่งของเงินที่ตกลงซื้อขายกัน ณ ตอนนี้ ของที่หายไปจึงเป็นทรัพย์สินของทั้งสองฝ่าย แต่ทางผู้ขายไม่ได้ต้องการที่จะทำการแจ้งความหรือร้องเรียนใด ๆ ข้าพเจ้าสามารถทำได้เพียงผู้เดียวหรือไม่
ข้อเท็จจริง
มีเพื่อนคนหนึ่งไปทำงานที่จังหวัดแถวภาคตะวันตกพอสิ้นเดือนก็นำเงินเก็บที่ได้มาจากการทำงานของเขาไปซื้อสร้อยทองน้ำหนัก 2 บาทราคาประมาณ 3 หมื่นกว่าบาทหลังจากนั้นหนึ่งเดือนต่อมาได้เดินทางมาที่ภาคออกเฉียงเหนือและได้นำสร้อยนั้นไปขายน้ำหนัก 1 บาท อีกหนึ่งบาทเปลี่ยนที่ร้านทองแห่งนั้นพร้อมทั้งทิ้งเบอร์โทรและสำเนาบัตรประจำตัวฯไว้ด้วย รุ่งเช้าตำรวจโทรมาแจ้งว่ามีร้านทองได้ไปแจ้งความเอาว่าได้รับซื้อทองปลอมจากคุณให้มาสอบปากคำที่สถานีฯ ในวันที่ 22 พ.ย. 53 พร้อมทั้งนำสร้อยทองและเงินทั้งหมดมาคืนให้ครบ และแจ้งว่าร้านทองเรียกเงินค่าเสียหายอีก 8พันบาท เพื่อนผู้ร้องได้ไปพบพนักงานสอบสวนและจ่ายค่าเสียหายแก่ร้านทองผู้แจ้งความเป็นเงิน 6 พันบาท พนักงานสอบสวนจึงไม่ดำเนินการใดอีก
ประเด็นคำถาม
1. เมื่อเจ้าของร้านทองได้สร้อยทองและเงินคืนทั้งหมดเพื่อนคนนั้นจะขอให้ตำรวจล้างสำนวนได้หรือไม่
2. ค่าเสียหายทีแรกที่ตำรวจแจ้งเราต้องจ่ายด้วยหรือไม่ทั้งที่เราก็เป็นผู้เสียหาย
3. เงินที่ตำรวจเรียกรับเขาเรียกว่าค่าอะไรกันแน่ซึ่งผมไม่เข้าใจในตรงนี้ ตำรวจมีสิทธิ์เรียกเก็บไหม
ข้อเท็จจริง
นางสาวบีอายุ 17 ปีได้หนีตามนายก.ไปอยู่กินด้วยกันระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจึงได้กลับมาอยู่กับบิดามารดา อยากทราบว่าการที่นายก.พานางสาวบีไปอยู่กินหลับนอนด้วยกันโดยที่นางสาวบีเต็มใจไปด้วย บิดามารดาของนางสาวบีสามารถดำเนินคดีเอาผิดกับนายก.ได้หรือไม่
ประเด็นคำถาม
1. บุคคลต้องรับผิดฐานพรากผู้เยาว์เมื่อใด
2. กรณีข้างต้นบิดามารดานางสาวบีสามารถดำเนินคดีเอาผิดกับนาย ก. ได้หรือไม่
ข้อเท็จจริง
มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายอาญา ว่า "ถ้านายเอกเกิดความหึงหวงนางขาวที่เป็นภรรยา เพราะเห็นไปยืนคุยกับ แฟนเก่า นายเอกจึงใช้ปืนยิงนางขาว ถึงแก่ความตาย" กรณีนี้ ถือว่าเป็นการฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือ ไม่เจตนา คะ? จะถือว่าเป็นการบันดาลโทสะได้หรือไม่คะ
ประเด็นคำถาม
1. บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาเมื่อใด
2. เหตุบันดาลโทสะเป็นอย่างไร
3. กรณีข้างต้น นายเอกมีความรับผิดทางอาญาหรือไม่ อย่างไร
ข้อเท็จจริง
ผมได้ให้คู่กรณียืมเงินไป 3,500 บาท โดยทำสัญญายืมปากเปล่าเอาไว้ ต่อมาผมได้ทวงเงินเขาหลายครั้งเขาก็ไม่ยอมคืน บางครั้งก็ปิดโทรศัพท์หนี ผมไม่มีทางอื่นจะเอาเงินคืนจากเขาได้แล้ว ผมจึงตัดสินใจส่งอีเมล์แนบชื่อ ที่อยู่ รูปภาพ และพฤติกรรมเบี้ยวหนี้ของคู่กรณีส่งไปยังอีเมล์ของเพื่อนๆเขา เมื่อเขาทราบเรื่องจึงแจ้งกับผมให้ผมขอโทษไม่เช่นนั้นจะฟ้องหมิ่นประมาท ผมควรทำอย่างไรดีครับ
ประเด็นคำถาม
1. บุคคลต้องรับผิดฐานหมิ่นประมาทเมื่อใด
2. กรณีข้างต้นผู้ส่งอีเมลต้องรับผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ อย่างไร