หมวดหมู่ - กฎหมายพิเศษ
ข้อเท็จจริง ตามที่ผู้ร้องได้เคยขอรับคำปรึกษาทางกฎหมายจากศูนย์ฯแล้ว ผู้ร้องยังมีความสงสัยในเรื่องที่ว่าถนนหน้ากว้าง 12 เมตรจากเดิมตอนแรกโครงการได้บอกว่าเป็นภาระจำยอมกับนายก อบต. แต่ในบันทึกถ้อยคำเรื่องภาระจำยอมถนนฝั่งติดโครงการอีก 6 เมตร ก็อยู่ภาระจำยอมเช่นกัน ผู้ร้องได้สอบถามกับนายก อบต. ซึ่งได้รับคำตอบจากนายก อบต. ว่า ได้ขายให้โครงการแล้วแต่ไม่ทราบว่าทำไมยังมีชื่อตนเป็นเจ้าของภารยทรัพย์อยู่ และให้ผู้ร้องถามโครงการว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น พอผู้ร้องได้สอบถาม โครงการก็ประวิงเวลาไม่ยอมตอบจากวันที่ส่งหนังสือทวงถามไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน ซึ่งผ่านไปแล้ว 3 เดือน โครงการก็อ้างว่า กำลังเตรียมเอกสารเพื่อชี้แจง (ไม่นับรวมถึงการทำหนังสือทวงถามครั้งที่ 2 และผู้ร้องโทรสอบถามติดตามเรื่องอีก 5 ครั้ง ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาผู้ร้องก็ไม่ได้รับคำตอบ) และนอกจากเรื่องถนนสายหลักของโครงการมีเรื่องโครงการไม่ทำตามแผนผังที่แจ้งกับจัดสรรที่ดินจังหวัด เช่น นำที่ดินที่แจ้งว่าเป็นที่ตั้งสำนักงานนิติบุคคลและสวนสาธารณะไปสร้างบ้านขายแทน เป็นต้น และมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่ว่า เจ้าของโครงการเป็นภรรยาของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดโดยตำแหน่งและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลผู้เป็นเจ้าของภารยทรัพย์ในเรื่องถนน คสล. หน้ากว้าง 12 เมตร ยาว 1 กิโลเมตร และเป็นทั้งหุ้นส่วนและกรรมการโครงการด้วย ผู้ร้องจึงขอปรึกษาว่าตนและสมาชิกโครงการจะสามารถดำเนินการและและติดต่อกับหน่วยงานใดนอกเหนือจากเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเนื่องจากผู้ร้องกลัวว่าจะถูกแทรกแซงจากนักการเมืองท้องถิ่น
ประเด็นคำถาม
ผู้ร้องจะมีวิธีดำเนินการอย่างไรตามกฎหมายที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
ข้อเท็จจริง ผู้ร้องมีปัญหากับหัวหน้างานโดนแกล้งโดยออกคำสั่งมาเฉพาะผู้ร้องคนเดียวว่า ถ้าลาป่วยต้องมีใบรับรองแพทย์ทุกครั้งไม่ว่าจะลากี่วัน ถ้าไม่ส่งจะไม่ให้ลาและตัดวันลาพักร้อนแทน ซึ่งจริงๆผู้ร้องลาป่วยปีละสิบกว่าวัน และไม่เคยลาหลายๆวันแทบทุกครั้งจะลาป่วยแบบวันเดียว
ประเด็นคำถาม
ผู้ร้องสามารถทำอะไรได้บ้างในกรณีเช่นนี้
ข้อเท็จจริง ผู้ร้องได้ซื้อห้องชุดไว้กับโครงการหนึ่ง ซึ่งได้ชำระในส่วนของเงินจอง ทำสัญญา และผ่อนดาวน์ครบตามสัญญาแล้ว และจะทำการขายต่อให้กับผู้ซื้อ ซึ่งในการดำเนินการเปลี่ยนชื่อสัญญาให้ผู้อื่นนั้น ทางโครงการได้เรียกเก็บเงินธรรมเนียมในการเปลี่ยนชื่อสัญญาจำนวน 20,000 บาท โดยอ้างข้อตกลงจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ผู้ร้องได้ทำกับโครงการ ซึ่งจากการศึกษาข้อกฎหมายพบว่า สัญญาดังกล่าว ของโครงการขัดต่อกฎหมาย พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ. 2551 มาตรา 6/2 สัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาซื้อขายห้องชุดระหว่างผู้มีกรรมสิทธิ์ ในที่ดินและอาคารตาม มาตรา 6 กับผู้จะซื้อหรือผู้ซื้อห้องขุดต้องทำตามแบบสัญญาที่รัฐมนตรี ประกาศกำหนดสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาซื้อขายห้องชุดตามวรรคหนึ่งส่วนใด มิได้ทำตามแบบสัญญาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและไม่เป็นคุณต่อผู้จะซื้อหรือผู้ซื้อห้องชุด สัญญาส่วนนั้นไม่มีผลใช้บังคับ
แบบสัญญา อ.ช. 22 ตามมาตรา 6/2. ข้อ 4.5 ในระหว่างที่สัญญานี้มีผลบังคับ ผู้จะซื้อมีสิทธิโอนสิทธิตามสัญญานี้ให้บุคคลอื่น โดยบอกกล่าวเป็นหนังสือแก่ผู้จะขาย โดยผู้จะขายตกลงจะไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผู้จะขายด้องจัดให้ผู้รับโอนได้รับโอนไปซึ่งสิทธิและหน้าที่
มาตรา 63 ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารตามมาตรา 6 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 6/1 วรรคหนึ่ง หรือ มาตรา 6/2 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
ปัจจุบันผู้ร้องได้ชำระเงินจำนวน 20,000 บาท ให้กับทางโครงการแล้วด้วยความไม่เต็มใจ เนื่องจากกลัวเสียโอกาสในการขาย อีกทั้งทางโครงการแจ้งว่าจะยึดห้องชุดดังกล่าวไปขายใหม่ หากไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดภายในเดือนมกราคมนี้
ประเด็นคำถาม
1. ข้าพเจ้าสามารถฟ้องโครงการในกรณีใดได้บ้าง
2. สามารถเอาผิดกับโครงการทางอาญาได้ด้วยหรือไม่
3. รบกวนแนะนำการดำเนินการในการฟ้องร้องด้วยค่ะ
ข้อเท็จจริง ถามเรื่องการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
ประเด็นคำถาม
ข้อ 1. รัฐออกหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ประโยชน์ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ หากวันใดหากรัฐไม่ประสงค์จะใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์ในการเวนคืนแล้วต้องคืนอสังหาริมทรัพย์แก่เจ้าของเดิมหรือทายาท หลักการที่ว่านี้เสมือนว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินยังมีข้อผูกพันธ์อยู่ คือจะใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นได้ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเท่านั้น ถ้าไม่ใช่ต้องคืนใช่ไหม
ข้อ 2. หากเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาแล้ว มีการจ่ายค่าทดแทนเรียบร้อยแล้ว ต่อมามีการแก้กฎหมายให้อำนาจหน่วยงานที่ทำการเวนคืนสามารถโอนให้เอกชนได้ อย่างนี้เข้าข่ายขายทรัพย์ที่เวนคืนใช่หรือไม่ ถ้าใช่แสดงว่าเงือนไขการเวนคืนเปลี่ยนไป เพราะไม่สามารถคืนอสังหาริมทรัพย์ได้เมื่อไม่ได้ใช้ประโยชน์จากวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเดิม กรณีเข่นนี้เจ้าของทรัพย์เดิมสามารถเรียกค่าทดแทนเพิ่มได้หรือไม่
ข้อเท็จจริง กระผมได้ซื้อบ้านจัดสรรกับโครงการจัดสรรแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี มาแล้ว 5 ปี โดยมีถนนหลักเข้าหมู่บ้านกว้าง 12 เมตร แต่เมื่อประมาณปีเศษ ( ก่อนน้ำท่วมปี 54 ) โครงการแจ้งว่าถนนหลักกว้าง 6 เมตร ที่เหลือ 6 เมตร เป็นภาระจำยอมของที่ดินแปลงข้างเคียง กระผมของตรวจสอบเอกสารกับทางโครงการ ปรากฏว่า เป็นที่ดินที่ติดภาระจำยอมโดยมีเจ้าของที่ดินเป็นกับหุ้นส่วนกับโครงการและเป็นนายกฯ อบต. ปัญหาคือไม่ทราบว่าโครงการนี้เป็นนิติบุคคลหรือไม่ ทำให้ไม่รู้ว่าใครต้องมาดูแล เรื่องสาธารณูปโภคต่าง ๆ ของทางโครงการฯนี้ ซึ่งทางโครงการฯ ไม่สามารถให้คำตอบได้
ประเด็นคำถาม
กระผมสามารถดำเนินการและติดต่อกับหน่วยงานใดได้บ้าง เพื่อให้ทราบว่าโครงการนี้ต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป
ข้อเท็จจริง อยากจะขอคำแนะนำค่ะ ทางแม่ของดิฉันได้ถูกแอบอ้างใช้บัตรเครดิตของธนาคารในฮ่องกงเพื่อซื้อของออนไลน์ค่ะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ แม่ของดิฉันมีบัตรเครดิตที่เปิดพ่วงมาจากของพ่อ ซื้อก็เป็นชื่อของแม่ดิฉันเอง เป็นธนาคารของประเทศฮ่องกง ซึ่งบัตรนี้แม่ไม่ได้ใช้เลยในช่วงเวลาประมาณ 4-5เดือนที่ผ่านมา จนกระทั่งในวันที่ 8ตุลาคม 2555ที่ผ่านมา ได้มีการนำไปใช้ซื้อโทรศัพท์มือถือในร้านที่ห้างดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพ เป็นราคาทั้งสิ้น 9000บาท โดนแม่บอกว่าทางร้านได้นำบัตรไปรูดที่หลังร้าน แล้วหายไปนานมาก แต่ก็ไม่ได้เอะใจอะไร แต่ในวันที่ 26ตุลาคม ที่ผ่าน พ่อซึ่งอยู่ที่ฮ่องกงได้รับใบแจ้งยอดชำระเงินในรอบล่าสุด ได้มียอดการใช้บัตรเครดิตโดยเป็นยอดการสั่งซื้อของออนไลน์ในร้านชื่อดังแห่งหนึ่งในย่านคอสเวส์เบย์ฮ่องกง ชื่อร้านระบุว่าเป็นร้านขายประเภทโทรศัพท์ยี่ห้อผลไม้ระบุว่าได้มีการชำระในวันที่ 10ตุลาคม 2555เป็นยอดเงินทั้งสิ้นประมาณ 5000HKD และในวันที่ 15ตุลาคม 2555ได้มีการชำระอีก จึงลองไปหาข้อมูลว่าคืออะไร เป็นการชำระเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ตหรือการโฆษณาไม่แน่ใจ เพราะไม่รู้จัก แต่เป็นเว็บไซต์ชื่อดังของฮ่องกงอีกเช่นกัน เป็นยอดเงินประมาณ 1,500HKD รวมแล้วที่ถูกแอบอ้างไปเป็นเงินประมาณเกือบ 6,000 HKD ซึ่งเป็นเงินไทยเกือบ 30,000บาท
ตอนนี้ได้หาข้อมูลทราบแล้วว่าทางร้านที่ได้ทำการชำระยอด 5,000 HKD นั้นอยู่ที่ไหน จึงได้ให้พ่อไปติดต่อแต่ยังไม่ทราบว่าดำเนินการถึงไหนแล้ว และได้ทำการอายัดบัตรเครดิตใบนั้นแล้ว และกำลังดำเนินการติดต่อทางธนาคาร
ประเด็นคำถาม
1. จากที่ได้กล่าวรายละเอียดข้างต้น ถ้าต้องการยืนยันว่าเราไม่ได้เป็นคนชำระเงินจำนวนดังกล่าวนั้นจริง ทางดิฉันจะต้องหาหลักฐานอะไรบ้างค่ะ
2. อันที่จริงตอนนี้ก็คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี ถ้ามีคำแนะนำอะไรช่วยแจ้งด้วยนะค่ะ
ข้อเท็จจริง บริษัท A ได้รับเช็คจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 70,000 บาท ที่สั่งจ่ายเป็นชื่อของนาย ก.(ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท A)ไว้ และไม่นำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีของนาย ก.แต่ได้ทำหนังสือหักหนี้ค่าเสียหายที่ปรากฏจำนวนเงินในเช็ค นาย ก.นำเงินค่าเสียหายมาใช้อีกจำนวนเงิน30,000 บาท ให้ครบ100,000 บาท ตามที่ทำในสัญญาไว้
ต่อมานาย ก.ได้สอบถามไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ความว่ากองทุนได้ส่งเช็คไปที่บริษัท Aประมาณปีกว่าแล้วจนเช็คหมายอายุหกเดือนแล้วและแนะนำให้นายก.ติดต่อบริษัท A เพื่อขอรับเช็คใหม่อีกครั้ง
ประเด็นคำถาม
1.บริษัท A มีสิทธิหักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนาย ก.ได้หรือไม่
2.การกระทำของบริษัท A ถือว่าเป็นความผิดอาญาหรือไม่
3.ถ้าผิดตามข้อ2ถือว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอก
ข้อเท็จจริง
ตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 113 กำหนดไว้ดังนี้
(1) กรณีมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนดำเนินการครั้งเดียวปิดอากรแสตมป์จำนวน 10 บาท
(2) กรณีมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนดำเนินการมากกว่าครั้งเดียวปิดอากรแสตมป์จำนวน 30 บาท
(3) กรณีมอบอำนาจให้ดำเนินการมากกว่าครั้งเดียวโดยให้บุคคลหลายคนต่างคนต่างกระทำการแยกกันได้จะคิดตามตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจโดยปิดอากรแสตมป์คนละ 30 บาท
ประเด็นคำถาม
ประเด็นแรก การติดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจควรนับตามจำนวนผู้มอบอำนาจด้วยหรือไม่
ประเด็นที่สอง ลักษณะการปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจตามข้อ 7 บัญชีอัตราอากรแสตมป์ ขอถามว่าในกรณีมอบอำนาจดังต่อไปนี้ ควรติดอากรแสตมป์เท่าใด
ถ้าผู้มอบอำนาจมี 1 คน ทำหนังสือมอบอำนาจ 1 ฉบับ ตามข้อ (1), (2) หรือ (3) ของประมวลรัษฎากร มาตรา 113 ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์
ถ้าผู้มอบอำนาจมี 10 คน ทำหนังสือมอบอำนาจ 1 ฉบับ ตามข้อ (1), (2) หรือ (3) ของประมวลรัษฎากร มาตรา 113 ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์
จำนวนผู้มอบอำนาจ 1 คนกับจำนวนผู้มอบอำนาจ 10 คน ต่างกันหรือไม่ และจำนวนผู้มอบอำนาจเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่กับการติดอากรแสตมป์
ประเด็นคำถาม
1) การที่เด็กเกิดในประเทศไทยกับเกิดที่ประเทศเยอรมันจะมีผลอย่างไรในทางกฎหมาย
2) เด็กสามารถถือสองสัญชาติทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติเยอรมันได้หรือไม่ หากเด็กสามารถถือสองสัญชาติได้ หากเด็กมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ตามกฎหมายเด็กสามารถเลือกการถือสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งได้ไหม จริงเท็จเป็นประการใด
ข้อเท็จจริง เมื่อประมาณวันที่ 28 มีนาคม 2554 พันเอก ค. ได้ร้องเรียนต่อ ผบ.ทบ. เนื่องจากมีหน่วยงานภายนอกได้ทวงหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้ได้ปล่อยหนี้ไว้ไม่ได้ทวงถามมานาน 3 ปี และพบว่าไม่มีเงินในบัญชีจะชำระหนี้ได้ และพบว่าพันเอก ง. ยักยอกเงินไปทำให้เกิดปัญหาสองเรื่อง คือเงินขาดบัญชีและเป็นหนี้ ว่า
“1.พันเอก ก. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา โดยพันเอก ก.ไม่รายงานตามลำดับชั้นจนถึงรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม มีความผิดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมฯ 2542 กรณีเงินขาดบัญชีเนื่องจากพันเอก ง. ยักยอกเงินไปเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
2.พันเอก ก. ช่วยปกปิดความผิดของพันเอก ง. ที่ได้ยักยอกเงินไปจนทำให้เงินขาดบัญชีโดยการนำเอาเงินจากพันเอก ง. มาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้และไม่รายงานหน่วยเหนือว่าเงินขาดบัญชีหลังจากยักยอกเงินไปกว่า 3 ปี ทั้งนี้พันเอก ก. ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีเป็นหนี้แต่ไม่สอบข้อเท็จจริงกรณีเงินขาดบัญชี และได้สรุปตอนท้ายของรายงานคณะกรรมการว่า พันเอก ก. จะติดต่อประสานงานกับ พันเอก ง. ด้วยตนเองในเรื่องความรับผิดชอบ แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องเงินขาดบัญชี
3.พันโท ข. ลงนามเบิกเงินในฎีกาเบิกเงินไปโดยไม่ได้รับมอบอำนาจให้ผู้ใดรับเช็ค แต่ระบุว่านำเงินเข้าบัญชีของเจ้าหนี้ เช็คลงนามโดย พันเอก ง. และนายทหารการเงิน เวลาได้ล่วงเลยมา 3 ปี ก็ไม่มีการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ และสุดท้ายเช็คได้หายไป”
ต่อมา ผบ. ทบ. ได้สั่งให้แม่ทัพภาคสอบสวนข้อเท็จจริงเพราะแม่ทัพภาคเป็นผู้บังคับบัญชาของพันเอก ก. และพันโท ข. ผลการสอบข้อเท็จจริงยังไม่เสร็จ ผบ. ทบ. ยังไม่ได้รับรายงานแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 พันเอก ก. และพันโท ข. ได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมผ่านแม่ทัพภาคที่เจ้ากรม พ. ว่า พันเอก ค. (1) กล่าวเท็จ (2)ให้ร้ายทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียง และ (3) ก่อให้แตกสามัคคีในหมู่ทหาร โดยในการ้องเรียนขอความเป็นธรรมนั้น พันเอก ก. และพันโท ข. ได้ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของตนตามลำดับชั้นจนในที่สุดถึงระดับแม่ทัพภาคได้มีหนังสือมาถึงเจ้ากรม พ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพันเอก ค.ให้เจ้ากรม พ. พิจารณาลงทัณฑ์พันเอก ค. ที่ได้กระทำการ 3 ประการข้างต้นเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป
ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2554 เจ้ากรม พ. ได้ตั้งกรรมการ 5 คน (มีนายทหารพระธรรมนูญ 2 คน) สอบข้อเท็จจริงและสอบวินัย เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 คณะกรรมการฯได้สรุปว่า พันเอก ค. มีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 ที่ได้กระทำความผิด (1) กล่าวคำเท็จ และ (2) ให้ร้ายทำให้เสื่อมเกียรติและชื่อเสียงประพฤติตนไม่เหมาะสม (ไม่ได้สอบข้อเท็จจริงประเด็นก่อให้แตกสามัคคีในหมู่ทหาร) เจ้ากรม พ. ได้สั่งลงทัณฑ์ประเด็นความผิดทั้งสองประเด็น (ไม่ระบุหรือกล่าวถึงประเด็นก่อให้แตกสามัคคีในหมู่ทหาร) ด้วยการกัก 7 วัน และให้งดบำเหน็จประจำครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 2555 พันเอก ค. ได้ลงนามรับทราบคำสั่งและรับทัณฑ์เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์
ทั้งนี้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้ร้องมีว่า
1.พันเอก ก.และพันโท ข.ชิงร้องขอความเป็นธรรมก่อนที่จะมีข้อสรุปจาก ผบ.ทบ.ว่าใครผิดใครถูก
2.เจ้ากรม พ. มีความสัมพันธ์ในฐานะที่เคยเป็นผู้บังคับบัญชาของพันเอก ก. และพันโท ข. มาก่อน
3.ในขณะที่พันเอก ก. และพันโท ข. ร้องเรียนนั้น แม่ทัพภาค ทราบว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ ผบ.ทบ. สั่งการมานั้นยังไม่เสร็จสิ้น
4.แม่ทัพภาคเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพันเอก ก. และพันโท ข.
5.เจ้ากรม พ. เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพันเอก ค.
ประเด็นคำถาม
1.พันเอก ก. มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และมีความผิดฐานช่วยเหลือพันเอก ง. ปกปิดความผิดหรือไม่
2.พันโท ข. ต้องรับผิดชอบกรณีเช็คหายหรือไม่ และจะมีความผิดอะไร
3.แม่ทัพภาคมีความผิดฐานร้องเรียนแทนกัน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 มาตรา 23 และ มาตรา 31 หรือไม่
4.ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 ในกรณีที่พันเอก ก. และพันโท ข.รู้ว่าคู่กรณี คือพันเอก ค. การที่ไม่ร้องเรียนมาโดยตรงที่เจ้ากรม พ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพันเอก ค. แต่พันเอก ก. และพันโท ข. ได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมตามลำดับชั้นขึ้นมา มีความผิดอย่างไร
5.เจ้ากรม พ. และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมีความผิดตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ ในกรณีที่ไม่มีการสอบสวนข้อเท็จจริงประเด็นข้อกล่าวหาว่าว่า พันเอก ค. ก่อให้แตกสามัคคีในหมู่ทหารและพันเอก ค. พิสูจน์ได้ว่าตนเองไม่ความผิด
6.ในกรณีที่ถือว่าแม่ทัพภาคมีความผิดฐานร้องเรียนกันตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 และพันโท ข. ไม่ได้ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ พันเอก ค. ตามมาตรา 26 แล้ว การที่เจ้ากรม พ. ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงและลงทัณฑ์ด้วยการกัก เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
7.ในกรณีที่หากการกระทำทั้งหมดของเจ้ากรม พ. เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย พันเอก ค. จะฟ้องคดีแพ่งฐานละเมิดตาม มาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และฟ้องคดีอาญา ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังให้เสียอิสรภาพ ตามมาตรา 310 ประมวลกฎหมายอาญา ต่อศาลยุติธรรมได้หรือไม่
8.ในกรณีที่ต้องมีการตีความกฎหมาย พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 ผู้ใดสามารถตีความกฎหมายได้