การเรียกชำระค่าสาธารณูปโภคจากผู้เช่าบ้าน
ข้อเท็จจริง
เนื่องด้วยข้าพเจ้าได้ให้เช่าบ้านที่จังหวัดปทุมธานี แต่ตัวข้าพเจ้าอยู่กาญจนบุรี และผู้เช่าบ้านได้ย้ายออกเมื่อสิ้นเดือน ก.พ ที่ผ่านมานี้ ข้าพเจ้าจีงให้เขาไปเสียค่าน้ำ ค่าไฟ ก่อนแล้วนำบิลมาให้ข้าพเจ้า แต่ปรากฏว่าเขานำบิลเฉพาะค่าไฟฟ้ามาให้ดู แต่ค่าน้ำเขาอ้างว่าบิลยังไม่มา ข้าพเจ้าจึงถามว่าปกติใช้ค่าน้ำประมาณเดือนละเท่าไร เขาบอก 5-600 บาท ข้าพเจ้าจึงบอกว่างั้นข้าพเจ้าขอเก็บค่าน้ำ 500 บาท เพราะว่าถ้าเขาย้ายออกแล้วกลัวเขาจะไม่จ่าย ซึ่งวันนั้นตรงกับวันเสาร์ที่ 28 ก.พ แต่พอวันจันทร์ ทางบริษัทเอกชนซึ่งเป็นผู้ดูแลค่าน้ำ (ในหมู่บ้านของข้าพเจ้าใช้น้ำของเอกชน) ได้มาตัดมิเตอร์น้ำ เมื่อข้าพเจ้าโทรสอบถามไปเขาบอกว่าไม่ได้ชำระค่าน้ำมาครบสามเดือนแล้ว เขาจึงต้องตัด(ซึ่งแสดงว่าผู้เช่าหลอกข้าพเจ้าว่าชำระทุกเดือน) ซึ่งค่านำทั้งหมด คือ 2260 บาท และถ้าจะขอต่อมิเตอร์น้ำใหม่ ก็ต้องจ่ายอีก 3852 บาท เหมือนการขอติดตั้งใหม่ ข้าพเจ้า ได้โทรติดต่อไปยังผู้เช่าเดิมที่บริษัทเขา แต่เขาบอกว่าไม่จ่ายให้ฟ้องร้องเอา
ประเด็นคำถาม
1. ข้าพเจ้าจะฟ้องร้องได้หรือไม่ (สัญญาเช่าบ้านยังอยู่ข้าพเจ้ายังไม่ได้ทิ้งไป) ทั้งค่าน้ำ และค่าติดตั้งมิเตอร์ด้วย พร้อมทั้งค่าเสียหายต่างๆ เช่นค่าทนาย
2. ข้าพเจ้าสามารถฟ้องได้เอง บ้านที่ให้เช่าอยู่นวนคร ปทุมธานี จะต้องไปฟ้องที่ศาลแพ่งที่ไหนครับ ช่วยกรุณาตอบด้วยน่ะครับ
การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสัญญาเช่านั้น โดยหลักต้องพิจารณาจากสัญญาเช่าว่าผู้เช่าและผู้ให้เช่ามีสิทธิหน้าที่ต่อกันอย่างไรบ้าง และมีการกระทำใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิผิดหน้าที่จนก่อให้เกิดความเสียหายผู้ถูกโต้แย้งสิทธิจึงจะมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
จากข้อเท็จจริงที่คุณให้มานั้นมิได้ระบุชัดแจ้งว่าผู้ใดมีหน้าที่ในการชำระค่าน้ำตามสัญญาเช่า หากมีการระบุในสัญญาว่าผู้เช่ามีหน้าที่ในการชำระค่าน้ำ การที่ผู้เช่าไม่ได้ชำระค่าน้ำมาตลอดสามเดือนจนผู้ให้บริการน้ำระงับการจ่ายน้ำทำให้ผู้ให้เช่าเสียหาย ต้องชำระค่าน้ำ 2,260 บาทและเสียค่ามิเตอร์น้ำใหม่อีก 3,852 บาท การกระทำดังกล่าวของผู้เช่าจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ให้เช่าโดยทำผิดหน้าที่ตามสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าย่อมมีอำนาจฟ้องผู้เช่าเป็นคดีแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญาดังกล่าวได้
หากในสัญญาเช่ามิได้ระบุถึงหน้าที่การชำระค่าน้ำค่าไฟก็ต้องตีความสัญญาและตีความการแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาเช่านี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 และมาตรา 171 ซึ่งตีความได้ว่าการทำสัญญาเช่านั้นเจตนาที่แท้จริงระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่าย่อมเห็นว่าภาระในค่าน้ำและค่าไฟที่ใช้ไปเพื่อความสะดวกของผู้เช่า ผู้เช่าย่อมต้องเป็นผู้รับภาระในส่วนนี้ และเมื่อตีความสัญญาในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีของการทำสัญญาเช่าแล้ว ภาระในส่วนค่าน้ำค่าไฟย่อมตกเป็นของผู้เช่านั่นเอง ด้วยเหตุนี้การที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าน้ำจนเป็นเหตุให้ผู้ให้เช่าต้องถูกตัดบริการน้ำ เกิดค่าเสียหายจากการชำระค่าน้ำ 2,260 และค่าต่อมิเตอร์น้ำใหม่ 3,852 บาท การกระทำดังกล่าวของผู้เช่าจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิผู้ให้เช่า คุณในฐานะผู้ให้เช่าย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาดังกล่าวได้ เมื่อการเช่าได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือย่อมไม่ถูกตัดสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 538
สำหรับศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวนั้นเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 กล่าวคือ สามารถฟ้องคดีต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาและมีเขตอำนาจในท้องที่ที่จำเลยมีภูมิลำเนาหรือฟ้องในศาลที่มีเขตอำนาจในท้องที่ที่มูลคดีเกิด ในกรณีคือท้องที่ที่ทำสัญญาเช่าหรือสถานที่ที่มีการผิดสัญญานั้น
ในกรณีนี้เป็นการฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายรวม 6,112 บาท อันเป็นคดีแพ่งมีข้อพิพาททุนทรัพย์ไม่เกิน 30,000 บาทพิจารณาอย่างคดีมโนสาเร่ ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาคดี สำหรับเขตอำนาจศาลนั้นหากมูลคดีซึ่งเป็นสถานที่ที่สัญญาทำกันในเขตอำเภอเมืองปทุมธานี, อำเภอสามโคก, อำเภอลาดหลุมแก้วต้องยื่นฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดปทุมธานี หากมูลคดีเกิดในเขตอำเภอธัญบุรี, อำเภอคลองหลวง, อำเภอหนองเสือ, อำเภอลำลูกกาต้องยี่นฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อบ้านที่ให้เช่าอยู่ในเขตนวนคร การผิดสัญญาย่อมเกิดขึ้นในนวนคร นวนครก็คือสถานที่ที่มูลคดีเกิด คุณจึงควรยื่นฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดธัญบุรี
โดยสรุปจากข้อเท็จจริงที่คุณให้มา ตามหลักทั่วไปแล้วคุณสามารถฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากการค้างชำระค่าน้ำและค่าติดมิเตอร์น้ำใหม่จากผู้ให้เช่าเป็นคดีมโนสาเร่ ณ ศาลจังหวัดธัญบุรีครับ
Attachment | Size |
---|---|
sitemap-r02.pdf | 26.7 KB |