สัญญาค้ำประกัน
ข้อเท็จจริง
ผมเป็นข้าราชการครู ค้ำประกันรถยนต์ให้ญาติ ปรากฏว่า เขาผ่อนรถอยู่ประมาณ 7 งวด ในช่วงนี้มีการค้างบ้าง ผ่อนบ้าง สุดท้ายไม่สามารถผ่อนชำระต่อได้ จึงได้นำรถไปคืนบริษัท ผมติดต่อไปบริษัทเขาแจ้งว่า กำลังดำเนินการขายทอดตลาด ต่อมาภายหลัง บริษัทได้แจ้งหนังสือว่า ให้ผู้ค้ำร่วมรับผิดชอบเงินอีกจำนวน 290,000 บาท เนื่องจากขายได้ในราคาต่ำกว่ายอดที่ยังค้างชำระหนี้ บวกค่าดำเนินการ
ประเด็นคำถาม
มีแนวทาง หรือควรทำอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการเป็นผู้ค้ำประกันร่วม
หากพิจารณาในข้อกฎหมายแล้ว ผู้ร้องเป็นลูกหนี้ที่ต้องชำระหนี้ค้างชำระของญาติซึ่งเป็นเจ้าหนี้ชั้นต้นต่อไฟแนนซ์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันซึ่งสันนิษฐานในขั้นต้นว่าเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้นหากเป็นไปตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างมาโดยไม่มีข้อเท็จจริงใดเพิ่มเติม หนี้ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จำนวน 290,000 บาทพร้อมค่าดำเนินการอันเป็นหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน ย่อมตกเป็นภาระตามกฎหมายของผู้ร้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อปัญหาดังกล่าวคือปัญหาการเรียกชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องสัญญาและหนี้ที่แท้จริง ผู้ร้องควรร้องขอเอกสารเกี่ยวกับการขายทอดตลาด กับเอกสารทางการเงินว่าหนี้ที่ยังค้างชำระอยู่มีเท่าไร และยอดนั้นทางไฟแนนซ์เรียกให้ชำระหนี้ภายในวันที่เท่าใด ซึ่งจะมีผลต่อการประเมินเรื่องดอกเบี้ยผิดนัด นอกจากนี้จำเป็นต้องสอบถามถึงการชำระหนี้ดังกล่าวว่าสามารถผ่อนชำระได้หรือไม่ ในอัตราดอกเบี้ยเท่าใด หากไฟแนนซ์คาดคั้นจะให้ชำระทั้งก้อน และผู้ร้องไม่มีความสามารถชำระหนี้ได้ คงต้องยอมให้ฟ้องร้องดำเนินคดี การสู้คดีนั้นแม้จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันแต่อาจขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผ่อนชำระหนี้ได้ และการต่อสู้คดีที่เตรียมการมาอย่างดีอาจทำให้ท่านขอลดหนี้ได้บางส่วน และแม้ในที่สุดท่านต้องตกเป็นลูกหนี้ ท่านก็จะได้รับช่วงสิทธิไปเรียกร้องจากลูกหนี้ผู้ที่ท่านได้ค้ำประกันได้
อย่างไรก็ดีหากข้อเท็จจริงที่ท่านแจ้งมา เป็นกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้ว ก็ต้องเป็นเรื่องที่ท่านต้องเจรจากับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป