ปัญหาการร้องขอจัดการมรดก
ข้อเท็จจริง บิดาผู้ร้องเสียชีวิต และมีการตั้งมารดาเป็นผู้จัดการมรดก ศาลมีคำสั่งตั้งมารดาผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว แต่การจัดการมรดกมีปัญหาขัดข้องคือ รถยนต์ที่เป็นทรัพย์มรดกของบิดาผู้ร้องติดไฟแนนซ์ มารดาผู้ร้องมีความประสงค์จะจัดการเปลี่ยนชื่อเป็นผู้เช่าซื้อแทนจากเดิมบิดาผู้ร้อง(เจ้ามรดก)เป็นผู้ผ่อนชำระเป็นมารดาผู้ร้องเป็นผ่อนชำระแทน แต่เมื่อมารดาผู้ร้องนำคำสั่งศาลที่ตั้งมารดาผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกต่อบริษัทที่รับจัดไฟแนนซ์แล้ว ทางบริษัทแจ้งมาว่าคำสั่งศาลที่นำมาแสดงใช้ไม่ได้เพราะไม่ได้ระบุเลขทะเบียนรถคนดังกล่าวเอาไว้แต่ในคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกระบุไว้ในใบคำสั่งศาลว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์สิน ได้แก่ ที่ดิน รถยนตน์ 1 คัน หมายเลขทะเบียน xxxxxxx และอาจมีทรัพย์สินอื่นๆ.........”ซึ่งตามความจริงบิดาผู้ร้องมีรถยนต์ทั้งหมด 4 คัน และรถคันติดไฟแนนซ์ที่จะโอนนั้น ไม่มีอยู่ในใบคำสั่งศาล ทางบริษัทแจ้งว่าต้องไปขอคัดคำสั่งศาลใหม่สำหรับรถคันนี้เพื่อใช้ดำเนินการโอน
ประเด็นคำถาม
1.ทำไมจึงไม่สามารถใช้ใบคำสั่งศาลได้เลย ทั้งที่แต่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว และถ้าหากมีทรัพย์สินเป็นร้อยรายการจะต้องระบุทั้งหมดหรือไม่ อย่างไร
2.หากต้องคัดคำสั่งศาลใหม่ต้องทำอย่างไร ไปของด้วยตัวเองได้หรือไม่ หรือต้องมีทนาย และดำเนินการอย่างไร
ข้อกฎหมาย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 บัญญัติว่า ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพนัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก
มาตรา 1716 บัญญัติว่า หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว
การดำเนินการให้คำปรึกษา
สำหรับประเด็นตามคำถาม เมื่อทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก และศาลได้รับคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกและตรวจสอบคุณสมบัติของผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1718 แล้ว เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ผู้จัดการมรดกจึงมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งศาลเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ตามมาตรา 1719 โดยถือว่าหน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลเป็นต้นไปตามมาตรา1716
เมื่อปรากฏว่าศาลมิได้มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างตามนัยมาตรา 1714 ผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์ทุกชนิดของผู้ตายที่มิได้เป็นการเฉพาะตัวได้เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท
ดังนั้น จากกรณีคำถามของคุณรินรดา เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งมารดาคุณรินรดา เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว มารดาคุณรินรดา ย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกตามคำสั่งศาลได้ทั้งสิ้น กรณีสัญญาไฟแนนซ์ไม่ใช่สัญญาที่มีสภาพเป็นการเฉพาะตัว เมื่อเจ้ามรดกตายสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาย่อมตกสู่แก่ทายาทตามมาตรา1599 และมาตรา 1600 ทั้งคำสั่งศาลมิได้มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเป็นการเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ดังนั้น มารดาของคุณรินรดา ย่อมมีอำนาจจัดการสัญญาไฟแนนซ์ได้โดยเปลี่ยชื่อมาเป็นผู้ผ่อนชำระแทนบิดาที่เสียชีวิตได้
กรณีดังกล่าวหากตีความว่า การจัดการมรดกจะมีอำนาจจัดการได้เฉพาะที่ระบุไว้ในคำสั่งศาล หากทรัพย์สินของเจ้ามรดกมีหลายรายการซึ่งอาจมีทั้งทรัพย์สินที่ทายาททราบได้หรือมิอาจทราบได้รวมกัน การจัดการก็จะมีเหตุขัดข้องไม่มีที่สิ้นสุดเพราะทายาทอาจไม่ทราบว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์ใดอยู่บ้าง กฎหมายจึงให้อำนาจผู้จัดการมรดกมีอำนาจจัดการป็นการทั่วไป สามารถจัดการทรัพย์สินของเจ้ามรดกได้ทุกอย่างตามกรอบของอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ฉะนั้น การที่พนักงานของบริษัทฯไฟแนนซ์แนะนำให้ไปนำคำสั่งศาลใหม่มาแสดงโดยเพิ่มข้อความว่าให้มีอำนาจจัดการมรดกรถหมายเลขทะเบียนที่อ้างถึงนั้นจึงมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น เพราะถือว่าคำสั่งศาลย่อมให้อำนาจผู้จัดการมรดกดำเนินการจัดการเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทได้อยู่แล้วตามที่กล่าวมา
จึงแนะนำให้มารดาผู้ร้องนำใบคำสั่งศาลไปยื่นยันเพื่อขอจัดการโอนทะเบียนต่อไป