ผิดสัญญาจ้างแรงงาน
ข้อเท็จจริง ผู้ร้องสมัครทำงานเป็นพี่เลี้ยงตามบ้าน กับ หจก แห่งหนึ่ง ที่ทำสัญญาเป็นเวลา 24 เดือนหรือ 2 ปี เงินเดือน 12,000 บาท มีอาหารและที่อยู่ให้ ไม่มีประกันสังคม มีวันหยุดแค่ 3 วันปีใหม่ 3 วันและหยุดวันแรงงาน ส่วนวันหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน แล้วแต่จะหยุดเมื่อไหร่ ทำงานตั้งแต่ 6.30 น.และเลิก 19.00 น.
ทำงานไปประมาณ 3 เดือน มีปัญหาทางครอบครัว คือลูกป่วยไม่มีใครเลี้ยง และมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม จึงไม่สามารถมาทำงานได้ จึงส่งข้อความแจ้งให้ทาง หจก ทราบ ว่าไม่สามารถกลับมาทำงานได้ แต่ทาง หจก ได้ฟ้องศาลว่าผู้ร้องผิดสัญญาจ้าง ให้ไปไกล่เกลี่ยในวันที่ 7 มิถุนายน 55 และเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 120,000 บาท
ประเด็นคำถาม
- สัญญามีระบุว่าถ้าผิดสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องยินยอมให้ผู้ว่าจ้างดำเนินคดี แต่สัญญามีเพียง 1 ใบ เท่านั้น ถามว่าสามารถฟ้องคดีได้หรือไม่
- ผู้ร้องสามารถฟ้องกลับได้หรือไม่ถ้าสัญญาจ้างไม่ได้ระบุอะไรเลย
- ข้อเท็จจริงของผู้ร้องที่อ้างมามีเหตุผลและมีประโยชน์เพียงพอที่จะเขียนคำให้การได้หรือไม่
ข้อกฎหมาย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่อีกบุคคลหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้
มาตรา 579 การที่ลูกจ้างขาดงานไปโดยเหตุอันสมควรและชั่วระยะเวลาน้อยพอสมควรนั้น ท่านว่าไม่ทำให้นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ( ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2551 มาตรา 14/1 สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ให้ศาลมีคำสั่งให้สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี
มาตรา 38 เมื่อโจทก์และจำเลยมาพร้อมกันแล้ว ให้ศาลแรงงานไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงหรือประนีประนอมยอมความกัน โดยให้ถือว่าคดีแรงงานมีลักษณะพิเศษอันควรระงับลงได้ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกัน เพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีความสัมพันธ์กันต่อไป
ในการไกล่เกลี่ยของศาลแรงงาน ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอหรือเมื่อศาลแรงงานเห็นสมควร ศาลแรงงานจะสั่งให้ดำเนินการเป็นการลับเฉพาะต่อหน้าคู่ความเท่านั้นก็ได้
ในกรณีที่ศาลแรงงานได้ไกล่เกลี่ยแล้ว แต่คู่ความไม่อาจตกลงหรือไม่อาจประนีประนอมยอมความกันได้ ก็ให้ศาลแรงงานดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
การดำเนินการให้คำปรึกษา
ลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่อีกบุคคลหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ แต่ถ้าลูกจ้างไม่ได้ทำงานให้นายจ้างหรือขาดงานไปโดยเหตุอันสมควรและชั่วระยะเวลาน้อยพอสมควรนั้น นายจ้างไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา และเรียกร้องค่าเสียหายแต่อย่างใด
แต่ในทางกลับกันถ้ามีเหตุสมควร เช่น ขาดงานเกิน 3 วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควรหรือไม่แจ้งนายจ้าง นายจ้างก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้
การลงลายมือชื่อในอกสารหรือเซ็นชื่อลงในสัญญาจ้าง ย่อมมีผลผูกพันตามสัญญาแล้ว ไม่ถือว่าสัญญาตกเป็นโมฆะ ส่วนสัญญาจ้างได้เปรียบหรือไม่ก็ต้องไปดูในสัญญาจ้าง เพราะอย่างไรก็ตามกฎหมายก็คุ้มครองในเรื่องนี้อยู่แล้ว
ส่วนที่นายจ้างฟ้องลูกจ้างเรียกค่าผิดสัญญาเป็นเงินจำนวน 120,000 บาท นั้น เห็นว่าเรียกร้องมาสูงเกินความเสียหายที่แท้จริง ศาลแรงงานมีการนัดไกล่เกลี่ยเพื่อให้คู่ความได้ตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันได้ ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง แต่ถ้านายจ้างกับลูกจ้างไม่อาจตกลงหรือไม่อาจประนีประนอมยอมความกันได้ ศาลแรงงานก็ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานกันต่อไป แต่ถ้าลูกจ้างไม่ผิดสัญญาศาลก็พิพากษายกฟ้องได้เข่นกัน
การไกล่เกลี่ยอาจจะมีมากกว่า 1 ครั้งก็เป็นได้ แล้วแต่ข้อเท็จจริงแต่ละกรณีแต่ที่สำคัญลูกจ้างที่ถูกฟ้องควรไปศาลทุกนัด มิฉะนั้นศาลอาจจะมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว ทำให้ลูกจ้างหรือจำเลยเสียเปรียบก็เป็นได้
ส่วนที่ลูกจ้างจะฟ้องกลับทาง หจก. นั้น เนื่องจากสัญญา ไม่ได้ระบุอะไรนั้น เห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ต้องดูรายละเอียดของสัญญาจ้างดังกล่าวเสียก่อน และประการสุดท้ายข้อเท็จจริงที่อ้างมานั้นก็มีเหตุผลและประโยชน์ในการเขียนคำให้การต่อสู้คดีได้ต่อไป