เช่าหอพัก
ข้อเท็จจริง ผู้ร้องได้ไปจองหอพักเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2555 ค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท ค่ามัดจำ 2,000 บาท ผู้ร้องได้ตกลงกับเจ้าของหอพักและได้จ่ายค่ามัดจำไป 2,000 บาท เรียบร้อยแล้ว วันที่ 1 มกราคม 2556 ผู้ร้องจะมาจ่ายค่าห้องพร้อมกับทำสัญญา เพราะผู้เช่าเดิมจะออกจากห้องเช่าวันที่ 12 ธันวาคม 2555 ซึ่งหลังจากนั้น วันที่ 10 ธันวาคม 2555 อีก 3 วัน ต่อมาเจ้าของหอพักได้โทรศัพท์มาแจ้งผู้ร้องว่า ให้มาจ่ายค่าเช่าห้อง ผู้ร้องได้แย้งกลับไปว่าตกลงกันว่าจะจ่ายค่าเช่าที่เหลือในวันที่ 1 มกราคม 2556 พร้อมทำสัญญา เจ้าของหอพักได้แจ้งแก่ผู้ร้องว่า วันที่มีการตกลงกันระหว่างตนกับผู้ร้องเป็นการเข้าใจผิด เพราะในสัญญาได้ระบุไว้ว่าหลังจาก 5 วัน ที่มาจองให้ผู้ร้องมาจ่ายค่าห้องไม่เช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ แต่ในวันที่ 10 ธันวาคม 2555 ที่ผู้ร้องได้จ่ายค่ามัดจำนั้นเจ้าของหอพักไม่ได้แจ้งผู้ร้องว่าเมื่อจองห้องไว้แล้วหลังจากนั้นอีก 5 วัน ผู้ร้องจะต้องมาจ่ายค่าห้องเช่า เจ้าของหอพักจึงได้ยื่นข้อเสนอต่อผู้ร้องว่า ถ้าหากไม่ต้องการให้ตนต้องถูกตัดสิทธิ์ให้ผู้ร้องนำเงินมาจ่ายไว้ก่อน 1,800 บาท ส่วนที่เหลือวันที่ 1 มกราคม 2556 ให้ผู้ร้องนำมาจ่ายแล้วจึงทำสัญญา ผู้ร้องจึงได้จ่ายเพิ่มไปอีก 2,000 บาท ซึ่งจำนวนเงินที่จ่ายไปแล้วรวมเป็นจำนวน 4,000 บาท แต่พอถึงวันที่ 1 มกราคม 2556 เจ้าของหอพักอ้างว่าเงิน 1,800 บาท ที่ผู้ร้องจ่ายมาก่อนหน้านี้เป็นเงินค่าเช่าห้องทิ้งไว้สำหรับเดือนมกราคม 2556 ต้องจ่ายค่าเช่าห้องใหม่ก่อนจึงจะทำสัญญาเช่าได้
ประเด็นคำถาม
1.การที่เจ้าของหอพักไม่ได้บอกรายละเอียดของกฎหอพักให้ผู้เช่าทราบก่อนแล้วจึงมาบอกทีหลังจ่ายค่ามัดจำไปถือเป็นการฉ้อโกงหรือไม่
2.การตกลงทำสัญญาในวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ตกลงกันไว้ก่อนแล้วเจ้าของหอพักได้มากลับคำพูดตอนทำสัญญาจะต้องทำอย่างไร
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคหนึ่ง, มาตรา 378 (3), มาตรา 387, มาตรา 391 และ มาตรา 406 วรรคหนึ่ง
การดำเนินการให้คำปรึกษา
ตามที่ผู้ร้องได้ขอคำปรึกษา ขอเรียนให้คำปรึกษาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละประเด็นคำถามดังต่อไปนี้
ประเด็นคำถามที่ 1.
ตอบ จากกรณีดังกล่าวการที่เจ้าของหอพักไม่ได้มีการนำกฎหอพักหรือรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาในการเช่าหอพักมาให้ผู้ร้องดูรายละเอียดแล้วได้เงินจากผู้ร้องไปนั้น แม้ในกรณีนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งก็ตาม แต่มีลักษณะเป็นการกระทำโดยแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองอันเป็นการกระทำโดยทุจริต ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแล้วได้เงินเป็นทรัพย์สินไปจากผู้ร้อง ย่อมมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
ประเด็นคำถามที่ 2.
ตอบ การที่ผู้ร้องได้มีการตกลงเช่าห้องพักอันเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นและได้จ่ายเงินค่ามัดจำจำนวน 2,000 บาท แก่เจ้าของหอพักแล้วและมีการตกลงกันที่จะให้มีการทำสัญญาเช่ากันอีกครั้งในภายหลัง ต่อมาเมื่อถึงเวลาที่กำหนดที่จะมีการทำสัญญาระหว่างกันนั้น เจ้าของหอพักไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไว้นั้น เห็นว่าเมื่อเจ้าของหอพักไม่ได้ทำตามสัญญา ผู้ร้องย่อมที่จะบอกกล่าวให้เจ้าของหอพักทำสัญญาตามที่ตกลงไว้ หากเจ้าของหอพักไม่ทำตามสัญญาที่ตกลงไว้ ผู้ร้องก็ย่อมที่จะบอกเลิกสัญญาก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ซึ่งเมื่อผู้ร้องบอกเลิกสัญญาแล้วทั้งฝ่ายผู้ร้องกับเจ้าของหอพักก็กลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ที่เจ้าของหอพักจำต้องส่งคืนเงินมัดจำ 2,000 บาท คืนแก่ผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (3) ส่วนเงินจำนวน 1,800 บาท ที่ผู้ร้องจ่ายแก่เจ้าของหอพักที่อ้างว่าเป็นการจ่ายเพื่อไม่ให้ผู้ร้องถูกตัดสิทธิ์นั้น ถือว่าเป็นการที่เจ้าของหอพักได้เงินนั้นมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จำต้องคืนแก่ผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 วรรคหนึ่ง และหากผู้ร้องเห็นว่าการที่ตนไม่ได้รับการทำสัญญาเช่าห้องพักดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตนย่อมที่จะเรียกเอาค่าเสียหายจากการที่เจ้าของหอพักไม่ทำสัญญาดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคหนึ่ง