ซื้อคืนสถานีกิจการน้ำมัน
ข้อเท็จจริง บิดาผู้ร้องได้ทำกิจการสถานีน้ำมันกับบริษัทแห่งหนึ่งแล้วก็ใช้ที่ดินที่ประกอบกิจการจำนอง เป็นประกันกับบริษัท โดยภายใต้เงื่อนไขหลายๆอย่าง เมื่อทำไม่ได้ก็ถูกปรับเงินเป็นจำนวนมาก อีกทั้งหลายๆอย่างทำให้เกิดหนี้มากมายกับบริษัท อีกทั้งความไม่รู้เกี่ยวกับกฎหมายด้วย ต้องขายที่ดินเป็นจำนวนมากเพื่อใช้หนี้แต่หนี้ก็ไม่หมดแต่ที่ดินอื่นๆหมดไป แล้วบริษัทก็ แนะนำให้ บิดาผู้ร้องขายกิจการเหล่านี้กับบริษัท แล้วบิดาผู้ร้องก็ได้เช่าที่ทำกินแห่งนี้กับบริษัทแทน ส่วนบริษัทก็เอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้เข้าธนาคารอีก ตอนนี้บิดาผู้ร้องได้มาประกอบกิจการแทนบิดาเพราะท่านได้เสียชีวิตแล้ว ขณะนี้ผู้ร้องก็ยังเช่าบริษัทโดยทำหนังสือสัญญาเช่าปีต่อปี ภายหลังที่บิดาผู้ร้องเสียชีวิต ผู้ร้องก็ติดต่อกับบริษัทเพื่อสอบถามเกี่ยวกับราคาเพราะต้องการซื้อคืน(ถ้าไม่เกินกำลัง)แต่บริษัทก็บอกว่าให้เช่าต่อไป ไม่ต้องกังวลอะไร ยังไม่บอกราคากับผู้ร้องเหมือนเดิม ต่อมาผู้ร้องก็สอบถามเขาอีก เขาก็บอกว่าถ้าอย่างไรก็รอซื้อตอนบังคับดีแล้วกัน ผู้ร้องรู้สึกว่ามันยิ่งยุ่งยากซับซ้อนมากเข้าไปทุกทีสำหรับคนที่ไม่มีความรู้ในทางกฎหมายอย่างผู้ร้อง ด้วยเหตุนี้ผู้ร้องจึ่งเรียนปรึกษา และขอคำชี้แนะจากผู้รู้ทั้งหลาย บอกผู้ร้องด้วยว่าควรทำอย่างไรดี
ประเด็นคำถาม
1. ผู้ร้องสามารถซื้อคืนได้หรือเปล่า
2. ผู้ร้องจะติดต่อสอบถามราคาและขอซื้อคืนจากใคร
3. ผู้ร้องควรทำอย่างดีกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ข้อกฎหมาย
การดำเนินการให้คำปรึกษา
ประเด็นที่ 1 ปัญหาของผู้ร้องมีว่า จะซื้อกิจการบริการน้ำมันคืนได้อย่าไร ซึ่งการจะซื้อคืนได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงด้วยความสมัครใจของคู่สัญญาเท่านั้น ดังนั้น หากจะตอบว่าผู้ร้องซื้อคืนได้หรือไม่ ก็ตอบได้เลยว่า ซื้อคืนได้ แต่หากบริษัทไม่ขายก็ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับบริษัทได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายบังคับให้เจ้าของเดิมมีสิทธิซื้อคืนได้ ยกเว้นแต่มีการทำสัญญาขายฝากระหว่างบิดาผู้ร้องกับบริษัทไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น หากไม่มีข้อตกลงขายฝากดังกล่าว ผู้ร้องมีเพียงฐานะเป็นผู้เช่าย่อมไม่มีอำนาจบังคับให้บริษัทขายที่เช่าให้แก่ตนได้ ซึ่งการจะซื้อคืนได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเจรจาตามเงื่อนไขธุรกิจล้วนๆ
ประเด็นที่ 2 หากผู้ร้องจะซื้อคืนก็ย่อมจะต้องซื้อคืนกับผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเท่านั้น ในที่นี้น่าจะเป็นบริษัท ส่วนธนาคารน่าจะเป็นเพียงผู้รับจำนอง ตามกฎหมายผู้รับจำนองย่อมไม่มีอำนาจขายที่ดินให้ผู้อื่นได้ มีเพียงอำนาจบังคับตามสัญญาจำนองเพื่อขายทอดตลาดเท่านั้น หากมีการผิดสัญญาจำนอง
ประเด็นที่ 3 หากถามว่าผู้ร้องควรทำอย่างไร น่าจะมีทางเดียวคือ เสนอเงินขอซื้อกิจการคืนในราคาที่เป็นที่พอใจแก่บริษัท และเมื่อซื้อแล้วควรเสนอไถ่ถอนจำนวนเงินกับธนาคาร ซึ่งรายละเอียดในการซื้อคืนนั้นเป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจ หากถามในมุมของกฎหมายแล้ว ตอบยาก เพราะเป็นเสรีภาพในการแสดงเจตนาของคู่สัญญา