การดูหมิ่นซึ่งหน้า
ข้อเท็จจริง
บ้านของผู้ร้องกับบ้านตรงกันข้ามเคยมีปัญหากันจนทำให้ตอนนี้ไม่คุยกัน แล้วหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา คนหน้าบ้านมักจะมองเราด้วยสายตาที่ดูถูก และมีคำพูดที่แดกดันเรา เวลาเห็นเรามักจะพูดคำพูดว่า “เล่นกับใครไม่เล่นอย่ามาเล่นกับคนอย่างกู มึงเจอแน่ แล้วชอบพูดว่า ตัวเองมีคนที่เป็นกองปราบ รู้จักคนใหญ่คนโตมากมาย จะเล่นกับกูก็ได้” แล้วเวลาเราขับรถ หรือเดินผ่านจะมองแล้วยกเท้าใส่ แล้วพูดจาแดกดัน ทุกๆเช้า พ่อกับแม่ของผู้ร้องจะต้องตื่นเช้าเนื่องจากมีอาชีพเป็นช่างรับเหมา จะถูกคนหน้าบ้านพูดแดกดันว่า กูไม่ใช่พวกกรรมกรใช้แรงงานจะได้ตื่นเช้าๆ ทุกวัน ชอบขู่เรื่องจะเอากองปราบมาจัดการกับบ้านเรา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเราจอดรถหน้าบ้านเราอีกหลังหนึ่ง แล้วรถของอีกคนก็จอดอยู่หน้าบ้านข้างๆ ซึ่งไม่ใช่หน้าบ้านที่ตรงกับบ้านของคู่กรณีคนนี้ คู่กรณีก็พยายามขับรถเฉี่ยวรถเรา พอคู่กรณีขับรถถึงบ้านของเขา เขาก็เร่งเครื่องรถทำให้ควันดำพุ่งเข้าบ้านเราจนเป็นเหตุให้ข้าวของและคนที่ยืนอยู่ในบ้านเราเสื้อผ้าเลอะไปหมด และในวันนี้ พ่อของผู้ร้องได้นำรถไปจอดในบ้านติดกันข้างขวาซึ่งเป็นคนรู้จักกัน แต่ปัจจุบันเขาไม่ได้อยู่บ้านหลังดังกล่าว ต่อมาเจ้าของบ้านที่เราเอารถไปจอดอนุญาตให้เราเอารถไปจอดหน้าบ้านของเขาได้ พ่อของผู้ร้องก็นำรถไปจอด ต่อมาพอคู่กรณีกลับมาเห็นรถของพ่อของผู้ร้องจอดอยู่ในบ้านติดกัน ก็ตะโกนด่าว่า ทำตัวเหมือนเป็นส่วนตัว บ้านแบบนี้ธนาคารยึดไปเยอะแล้ว และจงใจให้ครอบครัวของผู้ร้องได้ยิน
ประเด็นคำถาม
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ผู้ร้องสามารเอาผิดกับเขาได้หรือไม่
ข้อกฎหมาย
ป.อ. ม.326 , 358 , 393 ป.พ.พ. ม.420
การดำเนินการให้คำปรึกษา
ตามข้อเท็จจริงและประเด็นคำถามดังกล่าวข้างต้นนั้น ต้องพิจารณาก่อนว่าคู่กรณีของผู้ร้องนั้นได้กระทำการอันใดซึ่งกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด และกฎหมายนั้นได้กำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิด ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนั้นๆ แล้ว การที่คู่กรณีมองด้วยสายตาที่ดูถูก นั้นยังไม่มีกฎหมายใดกำหนดไว้เป็นความผิด ถือว่าเขายังไม่ได้กระทำความผิดตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่เขาพูดแดกดันผู้ร้อง ต้องพิจารณาคำพูดแต่ละประโยคของเขาว่าคำหรือประโยคใดเป็นความผิดตามกฎหมายหมายใด กฎหมาย ได้บัญญัติไว้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ส่วนเวลาที่เขาเห็นเราเขามักจะพูดว่า “เล่นกับใครไม่เล่นอย่ามาเล่นกับคนอย่างกู มึงเจอแน่ แล้วชอบพูดว่า ตัวเขามีคนที่เป็นกองปราบ รู้จักคนใหญ่คนโตมากมาย จะเล่นกับกูก็ได้” ประโยคดังกล่าวก็เป็นการกล่าวขึ้นมาลอยๆ ไม่ระบุเฉพาะเจาะจงว่าหมายถึงใคร หรือแสดงให้เห็นว่าหมายถึงตัวผู้ร้องหรือครอบครัวของตัวผู้ร้อง ไม่อาจทราบว่าเขากล่าวเพื่อความประสงค์ใด หรือต้องการให้ผู้ใดได้รับความเสียหาย ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าการกระทำเช่นนี้เป็นความผิด ส่วนกรณีเวลาที่เราขับรถ หรือเดินผ่านเขาจะมองแล้วยกเท้าใส่ แล้วพูดจาแดกดันเรา นั้น กรณีดังกล่าวนี้ อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาภาคความผิดลหุโทษ เกี่ยวกับการดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า กล่าวคือ การกระทำที่เป็นการดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอาย เป็นที่เกลียดชังของประชาชน เป็นการลดคุณค่าของผู้ถูกดูหมิ่นโดยผู้ดูหมิ่นเอง อาจเป็นคำด่า คำหยาบคาย สบประมาท หรือกระทำด้วยกิริยาอย่างอื่น เช่น การยกเท้าให้ เปลือยกาย ด่าว่าด้วยคำไม่สุภาพ
ส่วนกรณีที่ ทุกๆเช้า พ่อกับแม่ของผู้ร้องจะต้องตื่นเช้าเนื่องจากมีอาชีพเป็นช่างรับเหมา จะถูกคนหน้าบ้านพูดแดกดันว่า “กูไม่ใช่พวกกรรมกรใช้แรงงานจะได้ตื่นเช้าๆ ทุกวัน” ตามถ้อยคำดังกล่าวนั้น ก็ไม่เข้ากรณีที่กฎหมายได้บัญญัติว่าเป็นความผิด เป็นคำกล่าวลอยๆ ตามความเป็นจริง ไม่ได้ทำให้ผู้ใดได้รับความเสียหาย ไม่ได้เจาะจงให้ผู้ใดได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ ย่อมไม่เป็นกระทำความผิดตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่คู่กรณีชอบพูดว่าจะเอากองปราบมาจัดการกับครอบครัวของผู้ร้องนั้น กรณีนี้ไม่ทราบว่าเป็นจัดการในเรื่องใด เป็นกรณีที่ผู้ร้องได้กระทำความผิดตามกฎหมายหรือไม่ หากครอบครัวของผู้ร้องไม่ได้กระทำอันกฎหมายได้บัญญัติว่าเป็นความผิดแล้ว เจ้าหน้าที่กองปราบก็ไม่มีอำนาจที่จะดำเนินคดีกับครอบครัวของผู้ร้อง แต่หากเป็นกรณีที่ครอบครัวของผู้ร้องได้กระทำความผิดตามกฎหมายแล้ว การขู่ว่าจะแจ้งความดำเนินคดี หรือใช้สิทธิโดยชอบตามกฎหมายโดยแจ้งให้เจ้าพนักงานดำเนินคดี ก็ย่อมเป็นการใช้สิทธิตามปรกตินิยม ไม่ใช่การข่มขู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่ว่าคู่กรณีขับรถถึงบ้านของเขา เขาก็เร่งเครื่องรถทำให้ควันดำพุ่งเข้าบ้านเราจนเป็นเหตุให้ข้าวของและคนที่ยืนอยู่ในบ้านเราเสื้อผ้าเลอะไปหมด หากคู่กรณีเจตนากระทำให้เกิดผลคือความเสียหายแก่ข้าวของและบุคคลดังกล่าว อาจเข้ากรณีว่าได้กระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ได้ เพราะว่าเป็นการทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้เสื่อมราคาของทรัพย์ของผู้อื่น และอาจเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยละเมิด กล่าวคือ เป็นการจงใจให้เกิดวามเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้อื่น ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายได้ ส่วนกรณีที่พ่อของผู้ร้องได้นำรถไปจอดในบ้านติดกันข้างขวาซึ่งเป็นคนรู้จักกัน แต่ปัจจุบันเขาไม่ได้อยู่บ้านหลังดังกล่าว ต่อมาเจ้าของบ้านที่เราเอารถไปจอดอนุญาตให้เราเอารถไปจอดหน้าบ้านของเขาได้ พ่อของผู้ร้องก็นำรถไปจอด ต่อมาพอคู่กรณีกลับมาเห็นรถของพ่อของผู้ร้องจอดอยู่หน้าบ้านของคนดังกล่าว ก็ตะโกนด่าว่า “ทำตัวเหมือนเป็นส่วนตัว บ้านแบบนี้ธนาคารยึดไปเยอะแล้ว” การกล่าวถ้อยคำดังกล่าวนี้ ถ้าเป็นคู่กรณีที่พิพาท ไม่พอใจกัน ก็ย่อมเกิดความขุ่นเคือง มัวหมองขึ้นภายในใจได้ แต่หากพิจารณาตามวิญญูชนคนทั่วไป การกล่าวถ้อยคำว่าบุคคลหนึ่งไปใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของบุคคลอีกคนหนึ่งโดยใช้ประโยชน์เสมือนเป็นทรัพย์สินของตนเองนั้น ต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายอาญาเรื่องการดูหมิ่นซึ่งหน้า ซึ่งคำว่าดูหมิ่นนั้น ก็ได้กล่าวถึงความหมายไปแล้วว่าเป็นการกระทำที่เป็นการดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอาย เป็นที่เกลียดชังของประชาชน เป็นการลดคุณค่าของผู้ถูกดูหมิ่นโดยผู้ดูหมิ่นเอง อาจเป็นคำด่า คำหยาบคาย สบประมาทก็ได้ ในเรื่องดังกล่าวนี้ หากผู้ร้องเห็นว่าการกระทำของเขาเป็นเหตุให้ผู้ร้องถูกเหยียดหยาม เป็นการลดคุณค่าของผู้ร้อง หรือทำให้ผู้ร้องเป็นที่เกลียดชังของประชาชน ผู้ร้องอาจแจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน กรณีความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ถ้าคำร้องทุกข์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. ม.๒(๗) ก็ถือว่าไม่มีการร้องทุกข์ในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีก็อาจขาดอายุความได้ ตาม ป.อ. ม.๙๖ ในเรื่องดังกล่าวผู้ร้องต้องเสนอคดีต่อศาลผู้มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมเป็นผู้ทำคำวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดหรือไม่