การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดลองงานเพื่อปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย โดยปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ผู้ร้องได้ร่วมลงนามถอดถอนคณบดี คณะที่ผู้ร้องทำงานอยู่ เนื่องจากท่านปฏิบัติงานไม่ชอบธรรม และดิฉันเห็นตามจริงนั้น แต่ปัญหาที่เกิดคือ คณบดีไม่ให้ผู้ร้องผ่านการทดลองการปฏิบัติงาน โดยผู้ร้องไม่มีความผิดใดๆ ผู้ร้องไม่เคยขาด ลา หรือมาสาย ผลการประเมินการสอนของผู้ร้องจากนักศึกษาอยู่ในระดับดีมาก ถึงมากที่สุด ผู้ร้องมีผลงานวิจัย ผลงานบริการวิชาการ มีภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบในงานสาขา ซึ่งล้วนแต่ครบตามภาระงานของอาจารย์ทั่วไป
ประเด็นคำถาม
ผู้ร้องควรเริ่มต้นทำอย่างไรในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากผลการประเมินขัดแย้งต่อการปฏิบัติงานของผู้ร้อง
ข้อกฎหมาย
จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ม. 3 , 5 ,9 , 42 , 72 พระราชบัญญัติ
วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ม.3
การดำเนินการให้คำปรึกษา
ตามข้อเท็จจริง และคำถามดังกล่าวข้างต้นของผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องได้รับแจ้งคำสั่งว่าไม่ผ่านการทดลองการปฏิบัติงาน และในคำสั่งดังกล่าวได้แจ้งสิทธิการร้องทุกข์ต่อประธานคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบผลการพิจารณาดังกล่าว ผู้ร้องต้องมีหนังสือร้องทุกข์
ถึงประธานคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัย และรอให้ คณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ได้มีคำวินิจฉัยเสียก่อน หากผู้ร้องเห็นว่า คณะกรรมการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานของผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามระเบียบมหาวิทยาลัย และการให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งเป็นไป โดยไม่ชอบ ผู้ร้องก็มีสิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ หากผู้ร้องได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองหรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนด ผู้ร้องมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ ตามสัญญาการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งสัญญาดังกล่าวมีลักษณะที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีภารกิจในการให้บริการทางการศึกษา ซึ่งก็คือการให้บริการสาธารณะนั่นเอง สัญญาจ้างระหว่างผู้ร้องกับมหาวิทยาลัยจึงเป็นสัญญาที่ให้ผู้ร้องเข้าร่วมดำเนินงานจัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. 2542 อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตาม มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่ผู้ที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลจะต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา 42 กล่าวคือ ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควร หรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนดไว้