คดีถึงที่สุด, บังคับคดี
ข้อเท็จจริง มีบุคคลนำที่ดินไปประกันเงินกู้และเช็คเป็นเวลาเกือบ 20 ปี สู้คดีมาโดยตลอด ปัจจุบันผู้ร้องเห็นว่าคดีน่าจะสิ้นสุด เพราะศาลพิพากษาจำคุกผู้กู้เป็นเวลา 3 เดือน หลักทรัพย์กำลังถูกยึดขายทอดตลอดมีคนเข้ามาติดต่อให้ย้ายออกและจะให้เงินจำนวนหนึ่ง
ประเด็นคำถาม
1.กรณีถูกจำคุกนี้ถือว่าคดีสิ้นสุดจริงหรือไม่
2.ผู้ร้องจะตรวจสอบอย่างไรหากผู้ร้องจะขอไถ่ถอนหลักทรัพย์ และต้องใช้เงินเท่าไหร่
3.ผู้ร้องเคยทราบว่าหากคดีถึงที่สุด ผู้กู้ถูกศาลสั่งเป็นบุคคลล้มละลาย กรณีนี้ผู้ร้องสามารถชำระหนี้เพียงร้อยละ 60 ของยอดหนี้ทั้งหมดจริงหรือไม่
4.กรณีมีคนมาเจรจาให้ผู้ร้องออกจากที่อยู่ที่ทำกินเดิม ผู้ร้องจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมบังคับคดีจริง หรือเป็นนายหน้าเข้ามาหาผลประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมาย
5.กรณีที่มีคนให้เงินผู้ร้องเพื่อให้ย้ายออกเป็นเรื่องปกติหรือไม่ มีนัยยะแอบแฝงหรือไม่อย่างไร หากเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจริง คนที่ให้เงินนั้นควรจะจ่ายผู้ร้องที่จำนวนเท่าไหร่ ( คิดเป็นร้อยละของยอดหนี้หรือราคาทรัพย์ได้หรือไม่ )
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 และมาตรา 216
พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 45, มาตรา 61 วรรคหนึ่ง และมาตรา 63
การดำเนินการให้คำปรึกษา
ตามที่ผู้ร้องได้ขอคำปรึกษา ขอเรียนให้คำปรึกษาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละประเด็นคำถามดังต่อไปนี้
ประเด็นคำถามที่ 1.
ตอบ จากข้อเท็จจริงการที่ผู้ร้องปรึกษาว่าคดีสิ้นสุดจริงหรือไม่นั้นต้องพิจารณาว่าหากศาลพิพากษาคดีจำคุกผู้กู้เป็นเวลา 3 เดือนนั้นแล้ว ผู้กู้หรือคู่ความในคดีไม่ได้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือฎีกาคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์ภายในกำหนดการอุทธรณ์หรือฎีกา คดีก็ย่อมจะถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 และมาตรา 216 ตามลำดับ
ประเด็นคำถามที่ 2.
ตอบ กรณีที่จะมีการไถ่ถอนหลักทรัพย์ตามที่ผู้ร้องได้ถามมาน่าจะเป็นกรณีที่หากมีการยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ที่จะมีการบังคับคดีที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรมบังคับคดีหรือสำนักงานบังคับคดีจังหวัดตามขอบเขตอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ผู้ร้องก็ย่อมที่จะติดต่อสอบถามหน่วยงานดังกล่าวเพื่อดำเนินการมิให้มีการนำที่ดินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึดออกขายทอดตลาดได้ ส่วนจำนวนเงินที่จะต้องใช้ในการดำเนินการจะมีจำนวนเท่าใดก็ควรที่จะติดต่อกับเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่อย่างไรก็ตามการนำที่ดินหรือทรัพย์สินออกขายทอดตลาดก็เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้นจำนวนเงินก็อาจเป็นไปตามจำนวนเงินที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้นได้
ประเด็นคำถามที่ 3.
ตอบ ในกรณีที่ศาลได้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้นลูกหนี้ก็ยังหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ตามจำนวนที่ตนเป็นหนี้แก่เจ้าหนี้โดยมีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้มีอำนาจจัดการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อแบ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง แต่ตามประเด็นคำถามที่ผู้ร้องถามว่าจะสามารถชำระหนี้แค่เพียงร้อยละ 60 เท่านั้นหรือไม่ เห็นว่า ในกรณีดังกล่าวกฎหมายไม่ได้กำหนดให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายหรือผู้ร้องในการที่จะชำระหนี้เพียงแค่จำนวนดังกล่าว แต่ทั้งนี้การชำระหนี้แค่เพียงร้อยละ 60 ของจำนวนหนี้ทั้งหมดนั้นก็ย่อมอาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากกฎหมายได้เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายสามารถที่จะขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายได้ ซึ่งลูกหนี้ที่ประสงค์จะทำความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนก็ย่อมที่จะทำคำขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ที่อาจจะมีการตกลงให้มีการชำระหนี้ในจำนวนร้อยละ 60 ของจำนวนหนี้ทั้งหมดก็เป็นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 45 และมาตรา 63
ประเด็นคำถามที่ 4.
ตอบ กรณีที่มีคนมาเจรจาให้ผู้ร้องออกจากที่อยู่ที่ทำกินเดิม หากผู้ร้องต้องการที่จะทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมบังคับคดีจริงหรือไม่นั้น ผู้ร้องก็ย่อมที่จะตรวจสอบได้เสมอ โดยอาจจะติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานของกรมบังคับคดีหรือสำนักงานบังคับคดีจังหวัดที่บุคคลนั้นกล่าวอ้างได้
ประเด็นคำถามที่ 5.
ตอบ กรณีที่มีคนให้เงินผู้ร้องเพื่อย้ายออกเป็นเรื่องปกติหรือไม่นั้น สำนักงานขอเรียนว่าวิธีการที่มีการดำเนินการดังกล่าวอาจจะมีในทางปฏิบัติก็อาจเป็นได้ ถ้ามีนัยยะที่แอบแฝงก็น่าจะเป็นการที่จะทำให้เกิดความสะดวกแก่การดำเนินการบังคับคดีก็เป็นได้ ส่วนจำนวนเงินที่ผู้ร้องจะได้รับจากคนที่ให้เงินนั้นก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของทั้งผู้ร้องและผู้ให้เงินนั้น โดยอาจจะคิดเป็นร้อยละของยอดหนี้หรือราคาทรัพย์ก็ย่อมที่จะสามารถทำได้ ทั้งนี้เป็นเรื่องในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละฝ่าย