การบุกรุกและการใช้ปืนขู่
ข้อเท็จจริง วันที่ 28 กันยายน ผู้ร้องได้รับโทรศัพท์จากชายคนหนึ่งว่า ผู้ร้องยังค้างชำระหนี้ค่ารถจักรยานยนต์เอสอาร์ 2 คัน ซึ่งเป็นรถนำเข้า จำนวน 20,000 บาท ผู้ร้องรู้สึกแปลกใจเพราะได้ผ่อนชำระเต็มราคาแล้วในปีพ.ศ. 2552-2553 แต่การทำสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์นี้ผู้ร้องไม่ได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างผู้ร้องกับคู่สัญญา ในวันที่ 29 กันยายน ผู้ร้องรู้สึกไม่สบายใจจึงไปพบคู่สัญญาที่บ้าน คู่สัญญากล่าวว่าจะจ่ายเงินที่ค้างชำระให้ภรรยาของคู่สัญญาแทนผู้ร้อง แต่ผู้ร้องเกิดความสงสัยเพราะได้ชำระไปครบถ้วนแล้ว ไม่มีเงินที่ค้างชำระแล้ว ผู้ร้องจึงอยู่รอคุยกับภรรยาของคู่สัญญาโดยตรง เมื่อภรรยาของคู่สัญญามาถึง คู่สัญญากลับลุกขึ้นว่ากล่าวผู้ร้องเสียงดัง และตะโกนให้บุตรสาวของคู่สัญญาไปหยิบปืนในรถมา
ประเด็นคำถาม
ผู้ร้องมีความผิดฐานบุกรุกหรือไม่
คู่สัญญาใช้ปืนขู่ มีความผิดหรือไม่
คู่สัญญามีทหารคอยรับใช้ที่บ้าน 1 นาย ถือเป็นความผิดหรือไม่ และการมีรถยนต์ต่างๆ ที่คู่สัญญาอ้างว่าได้มาในราคาถูก แต่เมื่อเกิดปัญหากลับต้องเอาไปซ่อน เป็นความผิดหรือไม่
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคสาม
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309, 310, 357, 362, 364, 392
การดำเนินการให้คำปรึกษา
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสาม ได้วางหลักว่า การทำสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคา 20,000 บาทหรือกว่านั้นขึ้นไป ถ้าไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประกันไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันไม่ได้ จากข้อเท็จจริง ในสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์เอสอาร์ 2 คันนั้น ผู้ร้องไม่เพียงทำการชำระหนี้บางส่วน แต่ได้ชำระหนี้จนเต็มจำนวนแล้ว เมื่อตีความตามหลัก “ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้น” ผู้ร้องจึงมีหลักฐานที่จะฟ้องร้องทางคดีต่อศาลเพื่อยืนยันการปฏิบัติตามสัญญาของผู้ร้องได้
การที่ผู้ร้องเข้าไปในบ้านหลังดังกล่าวเพื่อไปทวงถามถึงสัญญาซื้อขายรถมอเตอร์ไซค์ ย่อมเป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยมีเหตุอันสมควร และถือไม่ได้ว่าเป็นการรบกวนเจ้าของบ้าน ผู้ร้องย่อมไม่มีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา362 และมาตรา364
แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ร้องได้แสดงท่าทีเป็นการไม่ยอมออกไปจากเคหสถานของคู่สัญญา เมื่อคู่สัญญาได้เอ่ยปากไล่ให้ออกไปแล้ว ผู้ร้องย่อมอาจมีความผิดฐานบุกรุกตามมาตรา 364 ได้
ส่วนในประเด็นที่คู่สัญญานำปืนมาข่มขู่ผู้ร้องนั้น โดยหลักแล้วเมื่อมีการใช้ปืน ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่า แต่ก็ต้องพิจารณาเจตนาของผู้กระทำตามข้อเท็จจริงประกอบกันไปด้วย ซึ่งในกรณีนี้ คู่สัญญามีเพียงเจตนาใช้ปืนเพื่อข่มขู่เท่านั้น มิได้ประสงค์จะใช้ในการฆ่า การใช้ปืนเพื่อข่มขู่ของคู่สัญญาจึงไม่ได้มีเจตนาฆ่า แต่อาจทำให้คู่สัญญามีความผิดต่อเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีเหตุฉกรรจ์ตามมาตรา 309 ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ปราศจากเสรีภาพตามมาตรา 310 หรือความผิดฐานขู่เข็ญผู้อื่นให้กลัวหรือตกใจตามมาตรา 392 ได้
ประเด็นปัญหาที่ว่าคู่สัญญามีทหารคอยรับใช้ที่บ้าน 1 นายนั้น ในการพิจารณาจำต้องศึกษากฎหมายเฉพาะเสียก่อน แต่เมื่อวิเคราะห์ตามหลักเจตนาในเรื่องของกฎหมายอาญาทั่วไป หากมิได้เป็นการบังคับขืนใจให้มาทำงานรับใช้ แต่เป็นความสมัครใจของนายทหารคนนั้นแล้ว คู่สัญญาย่อมไม่มีความผิดทางอาญาแต่ประการใด และการมีรถยนต์ไว้ในครอบครองที่คู่สัญญาอ้างว่าได้มาในราคาถูก แต่เมื่อเกิดปัญหากลับต้องเอาไปซ่อน อาจเข้าข่ายความผิดอาญาฐานรับของโจรตามมาตรา 357 หากข้อเท็จจริงมีว่าคู่สัญญาได้ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งรถยนต์ที่เป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิด หรือคู่สัญญาอาจเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนในความผิดตามกฎหมายศุลกากรอันเป็นกฎหมายพิเศษก็ได้ หากข้อเท็จจริงมีว่าคู่สัญญาได้นำรถเข้าประเทศมาโดยเลี่ยงภาษีหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นกรณีนี้จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงประกอบกันไป