มอบอำนาจให้ดำเนินคดีอาญา
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องเป็นผู้ให้เช่าห้องพักโดยมีกำหนดระยะเวลาเช่า ตามสัญญาเช่า โดยไม่มีข้อสัญญากำหนดให้ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดในสัญญา ต่อมาระหว่างอายุการเช่าผู้เช่าค้างชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจึงบอกเลิกสัญญา และ ขอให้ผู้เช่าชำระหนี้ แต่ผู้เช่าไม่ยอมชำระแต่อย่างใด ผู้ให้เช่าจึงใช้สิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินในห้องที่เคยเช่าไว้เป็นประกันการชำระหนี้
ประเด็นคำถาม
1.ผู้เช่าสามารถใช้สิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินของผู้เช่าในห้องพักได้หรือไม่
2.ผู้ให้เช่าจะนำทรัพย์สินที่ยึดหน่วงไว้ออกขายทอดตลาด ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241,244 ได้หรือไม่
3.หากวิธีการตาม ข้อ 2.ไม่สามารถทำได้ จะดำเนินการอย่างไรได้บ้างเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาเช่า
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222,224,241,244
การให้คำปรึกษา
ตามกฎหมายลักษณะหนี้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิยึดหน่วงทรัพย์ของลูกหนี้ นั้น ต้องมีหนี้อันเป็นประโยชน์ของตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ยึดถืออยู่
กรณีของผู้ร้องนั้น เป็นหนี้ค่าเช่าหอพัก มิใช่หนี้อันเกี่ยวด้วยสิ่งของใดๆในห้องพักของผู้เช่า จึงไม่ใช่กรณีที่จะใช้สิทธิยึดหน่วงได้ แม้จะเป็นสิ่งของที่อยู่ในห้องพักที่ผู้ให้เช่ามีกรรมสิทธิ์ก็ตาม แต่ผู้ให้เช่าย่อมไม่มีสิทธิยึดเอาทรัพย์สินนั้นมาชำระหนี้ หรือ นำเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดเองในทันทีได้
อีกทั้งกรณีของผู้ร้องก็มิใช่การจำนำ ตาม มาตรา 764 เนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในห้องนั้น ผู้เช่ามิได้ส่งมอบให้แก่ผู้ร้อง(ผู้ให้เช่า) เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้แต่อย่างใด
วิธีการเรียกร้องค่าเช่า
หนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว อีกทั้งมีการบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าที่ค้างชำระอยู่ และ ย้ายออกจากห้อง หากผู้เช่าไม่ยอมย้ายออกและไม่ชำระค่าเช่า ให้ฟ้องขับไล่ เรียกให้ชำระหนี้ค่าเช่าที่ค้าง(รวมทั้งดอกเบี้ยผิดนัดอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี) และ หากมีค่าเสียหายอื่นๆอีกก็สามารถเรียกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 หากผู้เช่ายังคงไม่ยอมชำระ จึงค่อยใช้คำพิพากษามาบังคับคดี ยึดทรัพย์ลูกหนี้ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ สิทธิในการเรียกร้องค่าเช่าดังกล่าว มีอายุความ 5 ปี