ถูกฟ้องละเมิดทั้งที่หย่าร้างกับผู้ทำละเมิดแล้ว
ข้อเท็จจริง พี่สาวของผู้ร้องได้รับหมายศาลให้เป็นจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดกของสามีของพี่สาวผู้ร้อง(มีจำเลยที่ 2 คือ บริษัท มอเตอร์บัส จำกัด จำเลยที่ 3 คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ซึ่งเสียชีวิตไปประมาณเดือนเมษายน 2556 ในคดีละเมิดที่สามีพี่สาวของผู้ร้องเป็นพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทาง สาย 126 ไปกระทำละเมิดโจทก์คือการขับรถโดยสารประจำทางทับร่างโจทก์อย่างแรง ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส เรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 28,047,806 บาท
แต่พี่สาวของผู้ร้องได้หย่าขาดจากสามีตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2543 ในบันทึกทะเบียนก่ารหย่า ได้มีข้อตกลง 1.ให้บุตร 2 คนอยู่ในอำนาจปกครองของฝ่ายหญิง 2.เรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ตกลงกันเอาเอง 3.เรื่องทรัพย์สินตกลงกันเอาเอง และไม่ได้มีการติดต่อกับสามีเลยนับแต่วันหย่า
บุตรทั้งสองคนพี่สาวของผู้ร้องเลี้ยงดูมาแต่ผู้เดียว ทางสามีไม่ได้มีการส่งเสียเลี้ยงดูบุตรทั้ง 2 แต่อย่างใด
ทางฝ่ายผู้ร้องทราบข่าวการเสียชีวิตเมื่อ วันที่ 26 เม.ย. 2556 เนื่องจากไปขอคัดสำเนาทะเบียนราษฎรเพื่อใช้ขึ้นทะเบียนทหารกองเกินของบุตรคนโต
ประเด็นคำถาม
ข้อ 1 พี่สาวของผู้ร้องต้องรับผิดในคดีนี้หรือไม่
ข้อ 2 บุตรทั้ง 2ของพี่สาวผู้ร้องต้องรับผิดในคดีนี้หรือไม่
ข้อ 3 จะทำอย่างไรที่จะให้ความมั่นใจว่าคดีนี้จบไม่ถูกฟ้องร้องเป็นคดีความใดๆอีก
ข้อ 4 ในคำฟ้องมีข้อความว่าโจทก์ได้ติดตามทวงถามจำเลยทั้งสามหลายครั้งแล้วแต่ได้รับการเพิกเฉยตลอดมาโจทก์จึงต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาล แต่พี่สาวผู้ร้องไม่ได้รับเอกสารใดๆนอกจากหมายเรียกให้เป็นจำเลยฉบับนี้ จะทำอย่างไรดี
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620 มาตรา 1635 มาตรา 1734
ประกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197
การให้คำปรึกษา
ข้อ 1 พี่สาวของผู้ร้องได้หย่าร้างตามกฎหมายกับสามีตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2543 ดังนั้นเมื่อสามีได้เสียชีวิตภายหลังการหย่า พี่สาวของผู้ร้องจึงไม่ได้มีฐานะเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกจากสามีในฐานะทายาทโดยธรรมแล้วตาม ปพพ.มาตรา 1620 ประกอบมาตรา 1635 ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องให้พี่สาวผู้ร้องเป็นจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดกของสามีจึงไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ดีพี่สาวของผู้ร้องต้องไปยื่นคำให้การเพื่อแก้ฟ้องภายในเวลาที่กำหนดมาในคำฟ้อง มิฉะนั้นอาจถูกพิพากษาให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การได้ ตามป.วิ.พ.มาตรา 197
ข้อ 2 กรณีบุตรทั้ง 2 ถ้าเกิดในช่วงที่พี่สาวจดทะเบียนสมรสกับสามีแล้ว จะมีฐานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเสียชีวิตก็จะเป็นทายาทโดยธรรมชั้นบุตรมีสิทธิได้รับมรดกได้ตาม มาตรา 1620 ประกอบมาตรา 1635 โดยถ้าคำฟ้องคดีนี้บิดาของบุตรทั้งสองไปกระทำละเมิดไว้ถูกเรียกให้ชดใช้จากกองมรดกหรือถูกไล่เบี้ยเอากับกองมรดกของบิดาจากนายจ้างหรือหน่วยราชการต้นสังกัด และมีการบังคับเอากับกองมรดกนั้นก็สามารถทำได้ แต่การบังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายนั้นต้องไม่เกินกว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ในกองมรดก และทายาทผู้รับมรดกไปก็รับผิดไม่เกินจำนวนมรดกที่ตนได้รับเท่านั้น ดังนั้นถ้าบุตร ทั้ง 2 ไม่ได้รับมรดกใดๆจากบิดาก็ไม่มีความรับผิดต่อหนี้กองมรดกในกรณีนี้แต่อย่างใด
ข้อ 3 การเข้าไปแก้คดีว่าฝ่ายครอบครัวของพี่สาวผู้ร้องไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับสามีตั้งแต่หย่าร้างและไม่ได้รับมรดกใดๆจากสามีนั้นก็เป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันความบริสุทธิ์ได้
ข้อ 4 จากข้อเท็จจริงอาจเป็นไปได้ที่จะมีการส่งคำบอกกล่าวโดยการส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังที่อยู่ของผู้ตาย ซึ่งการส่งคำบอกกล่าวประเภทนี้ทางผู้ถูกยื่นคำบอกกล่าวอาจไม่ต้องได้รับเอกสารด้วยตนเอง เพียงมีคนที่อยู่ ณ ที่อยู่นั้นลงลายมือชื่อตอบรับว่าได้รับคำบอกกล่าวก็มีผลเสมือนกับผู้ถูกยื่นคำบอกกล่าวได้รับเอกสารแล้ว ดังนั้นกรณีนี้อาจมีบุคคลอื่นลงลายมือชื่อตอบรับคำบอกกล่าวนี้โดยที่ พี่สาวของผู้ร้องไม่ทราบเรื่องก็เป็นได้ ซึ่งไม่จำต้องกังวลใดๆเพราะตามรูปคดีพี่สาวของผู้ร้องก็ไม่ได้มีส่วนรับผิดในคดีนี้อยู่แล้ว