สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ ภาค 2
ข้อเท็จจริง
บริษัทเอ และ บริษัทบี มีผู้ถือหุ้น เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน บริษัทเอ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน(ที่ดินติดจำนองเป็นประกันเงินกู้กับธนาคาร) และ ให้บริษัทบีเช่า ก่อสร้างอาคารเพื่อทำเป็นสำนักงานบนที่ดินของบริษัทเอ อายุสัญญาเช่า ปีต่อปี ต่อมามีการตรวจสอบบัญชีพบว่า บริษัทบี ได้คำนวณค่าเสื่อมอาคาร 20 ปี สูงกว่าสัญญาเช่าที่ดิน
ประเด็นคำถาม
หากต้องการทำสัญญาเช่าที่ดินให้เป็นไปตามอายุอาคารคือ 20 ปี(เช่ามาแล้ว 7 ปี เหลือ13 ปี) ถ้าเป็นสัญญาที่มีอายุสัญญา 13 ปี ต้องไปทำนิติกรรมสัญญาการเช่า ยื่นต่อสำนักงานที่ดินหรือไม่ กรณีผู้ถือหุ้นในบริษัททั้งสอง เป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน จะมีเงื่อนไขอย่างไรหรือไม่ ที่จะระบุในสัญญา ที่จะยกเว้นสำหรับการจดทะเบียนสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า 3 ปี ระหว่างนิติบุคคล 2 แห่งที่มีผู้ถือหุ้นเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 67 และ มาตรา 538
การให้คำปรึกษา
เมื่อมีการจดทะเบียนก่อตั้งนิติบุคคลแล้ว นิติบุคคลนั้นย่อมมีฐานะแยกต่างหากจากตัวบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น โดยนิติบุคคลนั้นจะมี สิทธิและหน้าที่ของตนเอง แยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น และ การแสดงเจตนาของนิติบุคลจะแสดงออกผ่านทางผู้แทนนิติบุคคล ซึ่งหมายถึงบุคคลธรรมดา ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทน และ ในนามของนิติบุคคล เช่น กรรมการผู้จัดการ เป็นต้น
ข้อเท็จจริงในกรณีของผู้ร้องนั้น เมื่อมีการจดทะเบียนตั้งนิติบุคคล 2 แห่ง แล้ว ย่อมจะถือได้ว่า นิติบุคคลทั้ง 2 แห่งนี้ มีความเป็นเอกเทศ และ เป็นอิสระจากกันเสมือนว่าเป็นบุคคล 2 คน แม้ว่าจะมีผู้ถือหุ้นคนเดียวกันก็ตาม
ดังนั้น หากนิติบุคคลแห่งหนึ่ง ประสงค์จะเข้าทำสัญญากับนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่ง แม้ว่าจะมีผู้ถือหุ้นเหมือนกัน ก็ต้องถือว่าเป็นนิติบุคคลคนละแห่ง การเข้าทำสัญญากันจึงบังคับตามกฎหมายปกติ ไม่มีข้อยกเว้น
ส่วนการทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ หากเกินกว่า 3 ปี ก็ต้องทำเป็นหนังสือ และ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นจะบังคับได้เพียง 3 ปี เรื่องนี้เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นแบบของสัญญา คู่สัญญาไม่สามารถตกลงเป็นข้อยกเว้นหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้