การคืนลาภมิควรได้ และ การขอคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องทำงานอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และ ลาออกเพื่อไปทำงานกับโรงพยาบาลแห่งใหม่ ต่อมาฝ่ายบุคคลของโรงพยาบาลเดิมโทรมา และ แจ้งว่ามีการโอนเงินให้ผิด เพราะจริงๆผู้ร้องได้ลาออกแล้ว โดยเป็น ค่า พตส.จำนวน 1.5 เดือน (ปกติผู้ร้องได้เงิน ค่า พตส.เดือนละ 1,500 บาท โดยหักภาษี 10% ดังนั้นจะได้เงินจำนวนนี้สุทธิเดือนละ 1,350 บาท)
ต่อมาผู้ร้องได้ตรวจสอบบัญชีพบว่า มีเงินจำนวนดังกล่าวโอนเข้าบัญชีของผู้ร้องจริง คือ เดือนกุมภาพันธ์ 1,350 บาท และ เดือนมีนาคม อีก 1,350 บาท รวม 2 เดือน ผู้ร้องได้รับเงินดังกล่าวทั้งสิ้น 2,700 บาท ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ร้องมีสิทธิได้รับเฉพาะของเดือนกุมภาพันธ์ครึ่งเดือน คือ 750 บาท หักภาษีร้อยละ 10 แล้ว เหลือ 675 บาท ดังนั้น จึงมีเงินที่โอนมาให้ผู้ร้องเกินกว่าที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับ 2,025 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ผู้ร้องต้องคืนให้แก่โรงพยาบาลที่ผู้ร้องได้ลาออกมา แต่ ฝ่ายการเงิน แจ้งว่า ให้ผู้ร้องคืนเงินจำนวน 2,250 บาท โดยให้เหตุผลว่า ผู้ร้องจะได้รับเงินภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายคืนในภายหลัง
ประเด็นคำถาม
ผู้ร้องต้องคืนเงินให้แก่โรงพยาบาลที่ลาออกมาแล้ว เป็นจำนวนเท่าใด
ข้อกฎหมาย
ประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406
การให้คำปรึกษา
โดยหลักแล้ว การได้รับเงินที่เกินมา เป็นการได้รับเงินที่ไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย จัดว่าเป็นกรณีลาภมิควรได้ บุคคลที่รับทรัพย์นั้นมาต้องคืนทรัพย์นั้นให้แก่เขา หากว่าได้รับมาและได้ใช้ไปแล้วโดยสุจริตคิดว่าตนมีสิทธินั้นก็คืนทรัพย์เท่าที่เหลืออยู่ แต่หากว่ารับมาแล้วทราบว่าไม่มีสิทธิรับเงินนั้นแล้วนำไปใช้ ก็ต้องคืนทรัพย์แก่เขาเต็มจำนวนที่รับมา ซึ่ง กรณีของผู้ร้องนี้ก็จัดได้ว่าเป็นกรณีลาภมิควรได้ จากการที่ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีเกินกว่าจำนวนที่มีสิทธิได้รับ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินดังกล่าว ที่ประกอบด้วยเงินค่า พตส. ที่โรงพยาบาลจ่ายให้แก่ผู้ร้อง และ ภาษีร้อยละ 10 ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย โดย โรงพยาบาลเรียกให้ผู้ร้องคืนเงินทั้ง 2 ส่วน รวมเป็นเงิน 2,250 บาทนั้น
ตามมาตรา 27 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีหรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้น การขอคืนเงินค่าภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเกินจำนวนไป หรือ เป็นเงินที่ผู้มีหน้าที่ชำระ ไม่ต้องชำระ เป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่ชำระภาษีจะต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินจำนวนดังกล่าวกับกรมสรรพากรเอง ไม่ใช่เรียกคืนเอาจาก ผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย
กรณีนี้ผู้ร้องจึงต้องคืนเงินตามจำนวนเต็มรวมทั้งภาษี คือ 2,250 บาท ให้แก่โรงพยาบาล แล้ว ให้ทำคำร้องขอคืนภาษีในส่วนที่ไม่มีหน้าที่ต้องชำระ ภายใน 3 ปี ต่อ กรมสรรพากร