เจ้าหน้าที่ธนาคารโอนเงินลูกค้าเข้าผิดบัญชี
ข้อเท็จจริง พี่สาวผู้ร้องประกอบอาชีพพนักงานธนาคารโอนเงินจำนวน 211,000 บาทไปยังบัญชีปลายทางที่ไม่ถูกต้อง ตรวจสอบภายหลังพบว่า ผู้รับโอนได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวไปยังบัญชีสามีและบุตรของผู้รับโอนบัญชีละ 100,000 บาท ส่วนที่เหลือ 11,000 บาทยังไม่สามารถตรวจสอบบัญชีปลายทางที่รับโอนได้ พี่สาวผู้ร้องได้ดำเนินการแจ้งความและขออายัดเงิน 100,000 บาทในบัญชีทั้งสอง มีการติดต่อผู้รับโอนและได้รับแจ้งว่าต้องการตรวจสอบที่มาของเงินจำนวนดังกล่าวก่อนหากเป็นการโอนเงินผิดจริง ตนจะโอนคืนให้และขอให้ธนาคารปลดอายัดเงินในบัญชีของสามีและบุตรของตน
ประเด็นคำถาม
1.ธนาคารมีสิทธิในการอายัดเงินหรือไม่
2.ผู้รับโอนมีความผิดฐานใดหรือไม่
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรค 2
การดำเนินการให้คำปรึกษา
ข้อ 1. จากข้อเท็จจริงการที่เจ้าหน้าที่ธนาคารนำฝากเงินเข้าผิดบัญชี ธนาคารมีสิทธิในการอายัดเงินจำนวนนั้นหรือไม่ ประเด็นแรกที่ต้องพิจารณาคือเงินจำนวน 211,000 บาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด พิจารณาเรื่องสัญญาฝากทรัพย์กรณีการฝากเงิน ซึ่งจะบริบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบเงินที่ฝาก จากข้อเท็จจริงเมื่อผู้ฝากส่งมอบเงินดังกล่าวแก่ธนาคารผู้รับฝากแล้ว กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังธนาคารผู้รับฝากนับแต่นั้น ทั้งนี้การที่ธนาคารผู้รับฝากได้ทำรายการฝากเงินผิดบัญชีอันเกิดจากความผิดหลงพลั้งเผลอของธนาคารโดยไม่มีเจตนาจะฝากเงินให้แก่ผู้รับโอนแต่อย่างใด เงินจำนวน 211,000 บาทจึงไม่ใช่เงินตามสัญญาฝากเงินระหว่างธนาคารและผู้รับโอน ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในเงินนั้นจึงยังคงเป็นของธนาคารผู้รับฝาก ธนาคารผู้รับฝากจึงมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นเข้าสอดเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้รับโอนได้โอนเงิน 100,000 บาทไปยังบัญชีสามี และอีก 100,000 บาทไปยังบัญชีบุตรของผู้รับโอน ธนาคารผู้รับฝากจึงมีสิทธิอายัดเงินจำนวนดังกล่าวในบัญชีสามีและบุตรของผู้รับโอน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำธุรกรรมทางการเงินใดกับเงินดังกล่าวต่อไป
ข้อ 2. การที่ผู้รับโอนได้โอนเงินจำนวน 211,000 บาทให้แก่บุคคลอื่นตั้งแต่ในขณะที่ธนาคารยังไม่ทราบว่าเงินจำนวนนั้นไม่ใช่ของผู้รับโอนแม้ว่าผู้รับโอนจะเป็นฝ่ายทราบแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าเงินจำนวนนั้นเข้าบัญชีของผู้รับโอนผิดพลาด เงินจำนวนดังกล่าวนั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้รับโอน เพราะธนาคารส่งมอบให้โดยสำคัญผิด แต่เมื่อผู้รับโอนมีเจตนากระทำเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบเป็นการเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนเองเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของผู้รับโอนจึงเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรค 2 (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4442/2540)