หน้าที่ของผู้จัดการมรดก
ข้อเท็จจริง
ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งพี่สาวผม เป็นผู้จัดการมรดกของคุณพ่อผม แต่ด้วยที่ผ่านมา พี่สาวผมไม่ยอมเปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับการรวบรวมทรัพย์มรดกพ่อของผมเลย ผมจะทำอย่างไรดี มีคนเคยแนะนำให้ผมรายงานศาลและขอให้ศาลปลดพี่สาวจากการเป็นผู้จัดการมรดก เพระถือว่ากระทำผิดหน้าที่ แต่ผมก็ไม่อยากจะให้รุนแรงอย่างนั้น เลยต้องการทราบข้อกฎหมายหรือวิธีการทางกฎหมายว่าผมจะบังคับให้พี่สาวผมรายงานความคืบหน้าได้อย่างไรบ้าง ขอบคุณครับ
ประเด็นคำถาม
1. ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่อย่างไร
2. หากผู้จัดการมรดกไม่ทำหน้าที่ ทายาทมีควรดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดการทำหน้าที่นั้น
ปัญหาที่ท่านมีคือปัญหาในเรื่องของการไม่ทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับการรวบรวมทรัพย์มรดกของบิดา ซึ่งในทางกฎหมายแล้วขั้นตอนการรวบรวมว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์สินอะไรบ้าง มีเท่าใด เป็นขั้นตอนการจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกตามบทบัญญัติมาตรา 1728 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ ซึ่งเมื่อจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้วหน้าที่ต่อมาของผู้จัดการมรดกคือการเปิดเผยบัญชีการจัดการทรัพย์มรดกนั้นและดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกอันเป็นหน้าที่ที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1732 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ ทั้งสามประการที่กล่าวมาเป็นหน้าที่โดยสังเขปของผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับทรัพย์มรดกที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย
ในขั้นตอนต่างๆ กฎหมายได้กำหนดกรอบการทำงานของผู้จัดการมรดกไว้ ในที่นี้ขออธิบายเฉพาะกรณีผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของศาล กล่าวคือ
- กรอบตามมาตรา 1728 ผู้จัดการมรดกจะต้องเริ่มลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยศาล เช่น ศาลได้อ่านคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ผู้จัดการมรดกก็ต้องเริ่มดำเนินการจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2551 ขอให้สังเกตว่ากฎหมายกำหนดวันเริ่มจัดทำ ไม่ใช่กำหนดวันที่ต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกเสร็จ
- กรอบตามมาตรา 1729 การจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกตาม 1) นั้นต้องทำให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนนับแต่เริ่มลงมือจัดทำ จากตัวอย่างในข้อ 1) หากผู้จัดการมรดกเริ่มลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกในวันที่ 16 ธันวาคม 2551 เวลาที่ต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จก็คือ 16 มกราคม 2552 นั่นเอง โดยบัญชีทรัพย์มรดกนั้นจะต้องกระทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้น ในทางปฏิบัติก็จะให้พยานนั้นลงลายมือชื่อรับรองลงในบัญชีทรัพย์มรดกเท่านั้นเอง ไม่ต้องไปนั่งเขียนต่อหน้าพยานแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีเงื่อนเวลาหนึ่งเดือนอาจขยายออกไปได้หากศาลมีคำสั่งขยายระยะเวลาจัดทำบัญชีทรัพย์มรดก ให้สังเกตว่ากฎหมายมิได้กำหนดให้ผู้จัดการมรดกต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์มรดกแก่ทายาททุกคน แต่หากคุณสุชาติสามารถเจราจาขอเข้าเป็นพยานในขั้นตอนการจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกก็จะทำให้ทราบข้อมูลการรวบรวมทรัพย์มรดกของบิดาคุณได้เช่นกัน
- กรอบตามมาตรา 1732 เมื่อจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้จัดการมรดกต้องจัดการแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่ศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล ในกรณีตัวอย่างก็คือ ผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการแสดงบัญชีการจัดการ คือบัญชีที่ระบุว่าจัดการทรัพย์มรดกอย่างไรบ้าง และดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้นในเสร็จ ภายใน 1 ธันวาคม 2552 แต่ก็มีข้อยกเว้นให้ขยายเวลาได้ คือ ทายาทข้างมากตกลงเห็นด้วยให้ขยายเวลา หรือศาลได้กำหนดเวลาไว้เป็นอย่างอื่นซึ่งอาจดูได้จากคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก หรือคำสั่งขยายเวลาจัดการทรัพย์มรดก เป็นต้น
จากหน้าที่และกรอบการปฏิบัติงานดังกล่าว ให้ท่านลองพิจารณาดูว่าพี่สาวท่านได้ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกผิดไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ หากไม่ได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในเวลาหรือไม่ได้ทำถูกต้องตามกฎหมายกำหนด หรือการจัดทำบัญชีไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล ด้วยสาเหตุที่ผู้จัดการมรดกประมาทเลินเล่อ หรือทุจริต หรือไม่มีความสามารถ ผู้มีส่วนได้เสียคือทายาทอาจแสดงให้ศาลเห็นถึงการกระทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกได้ ศาลก็จะถอนผู้จัดการมรดกได้หากเห็นสมควร นี่คือข้อบทกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการถอนผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1731 ซึ่งท่านเองระบุว่าไม่อยากใช้ช่องทางนี้ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ดี เพราะการรักษาน้ำใจของคนใกล้ชิดย่อมสำคัญกว่าการเอาชนะคะคานกันด้วยข้อกฎหมาย และแม้อยากจะใช้ช่องทางนี้ท่านก็ต้องแน่ใจว่าผู้จัดการมรดกกระทำการไม่ถูกต้องตามหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายด้วย
เมื่อไม่ต้องการใช้มาตรการขอถอนผู้จัดการมรดก และปรากฏว่าผู้จัดการมรดกเองก็จัดการไปไม่ถูกต้องตามกฎหมายบัญญัติแล้ว การแก้ปัญหาอาจใช้วิธีการเจรา โดยท่านอธิบายข้อกฎหมายให้ผู้จัดการมรดกทราบเพื่อโน้มน้าวจิตใจของผู้จัดการมรดกให้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยการโน้มน้าวใจต้องใช้ศิลปะอย่างสูง บางทีฐานะของผู้พูดก็มีส่วนสำคัญ เช่น ให้ผู้ที่พี่สาวท่านเคารพนับถือช่วยพูดให้ก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้กระบวนการยุติข้อพิพาทโดยการเจรจาประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ต้องเข้าใจธรรมชาติของการเจรจาว่าต้องไม่ทำให้คู่กรณีรู้สึกเหมือนโดนข่มขู่โดยข้อกฎหมาย แต่การเจรจาต้องแสดงความจริงใจที่จะขอให้ดำเนินการใดๆ ที่มีข้อกฎหมายหนุนหลังเท่านั้น แต่หากการเจรจาไม่ประสบผลแล้ว ท่านอาจดำเนินการร้องขอเข้าเป็นผู้จัดการมรดกร่วม โดยอ้างเหตุตามมาตรา 1713 (2) คือ เมื่อผู้จัดการมรดกไม่เต็มใจที่จะจัดการมรดก มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก หรือในการแบ่งปันมรดก แต่ทั้งนี้การดำเนินการเช่นนี้อาจมีผลในแง่การหักหาญน้ำใจพี่สาวท่านไม่ต่างกับการขอถอนผู้จัดการมรดก เพราะการดำเนินการเช่นนี้ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าแทรกแซงเหตุการณ์เหมือนกัน
ไม่ว่าท่านจะดำเนินการไปในทางใด คือ จะขอถอนผู้จัดการมรดก เจรจาตกลง หรือขอเข้าเป็นผู้จัดการมรดกร่วม ก็ต้องแน่ใจว่าพี่สาวท่านดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อนท่านจึงจะมีสิทธิ และมีน้ำหนักในการดำเนินการทั้งสามประการดังกล่าว ทั้งนี้จะเลือกช่องทางใดก็ให้ท่านชั่งน้ำหนักให้ถี่ถ้วนและเลือกทางที่สมประโยชน์แก่ทุกคนมากที่สุด หากทำได้เช่นนี้ประเด็นปัญหาเรื่องการไม่ทราบความคืบหน้าในการรวบรวมทรัพย์มรดกก็จะได้รับการแก้ไขในกรอบของกฎหมายในที่สุด