การขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก
ข้อเท็จจริง สามีของผู้ร้องเสียชีวิตโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ การขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยไม่มีพินัยกรรม ต้องทำอย่างไรบ้าง
ประเด็นคำถาม
1.เหตุที่ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก
2.ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกคือบุคคลใดบ้าง
3.คุณสมบัติของผู้จัดการมรดกมีอย่างไรบ้าง
4.วิธีการยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ทำอย่างไร
5.เอกสารที่ต้องเตรียมมีอะไรบ้าง
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713, 1718
การดำเนินการให้คำปรึกษา
1.เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โดยเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดก และมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก เช่น มีที่ดินเป็นทรัพย์มรดก หรือมีเงินในบัญชีเป็นทรัพย์มรดก เจ้าพนักงานที่ดินหรือธนาคารจะไม่ทำการโอนทรัพย์มรดกมาเป็นของทายาทโดยทันที จึงต้องมีคำสั่งศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกมาแสดงต่อเจ้าพนักงาน จึงจะดำเนินการได้
2.ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกคือ
-ทายาทโดยธรรม ได้แก่ บิดา มารดา บุตร สามี ภรรยา หรือ
-ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก เช่น ผู้มีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดก หรือ สามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย หรือ
-พนักงานอัยการ
3.คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก มีดังนี้
-บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีบริบูรณ์)
-ไม่เป็นคนวิกลจริต
-ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
-ไม่เป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
-ไม่เป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถ
4.วิธีการยื่นคำร้องนั้น ต้องยื่นต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาล
-ยื่นโดยทนายความ
-ยื่นโดยพนักงานอัยการ
-ในกรณีศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย มีหน่วยงานแผนกจัดการมรดกประจำศาล ก็สามารถใช้บริการได้
5.เอกสารที่ต้องเตรียมในเบื้องต้น มีดังนี้
1.เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับเจ้ามรดก
-ใบสำคัญการสมรส , สูติบัตร , สำเนาทะเบียนบ้าน ฯลฯ
2.เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
-ใบมรณบัตรของผู้ตาย
-สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ตาย
-ทรัพย์มรดกที่ต้องการจัดการ เช่น โฉนดที่ดิน, นส.3 , สมุดบัญชีเงินฝาก , สมุดเล่มทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น
-บัญชีเครือญาติ
-หนังสือยินยอมของทายาทในการตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของทายาท พร้อมทั้งรับรองสำเนาถูกต้อง