การแบ่งมรดก เวอร์ชั่น 2
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องในฐานะเป็นหนึ่งในสามของพี่น้องผู้มีสิทธิรับมรดก ทรัพย์มรดกเป็นที่ดินเนื้อที่ 2 งานเศษ พร้อมกับสิ่งปลูกสร้าง ได้จัดการโอนที่ดินและบ้านดังกล่าวเป็นชื่อของทายาททั้งสามคนเป็นเจ้าของร่วมกัน พี่น้องทั้งสามคนตกลงจะไม่ขาย และไม่แบ่งบ้านกับที่ดินดังกล่าว แต่ตกลงว่าให้บ้านกับที่ดินเป็นทรัพย์มรดกแก่บุตรของ พี่น้องทั้งสามคน ต่อมาผู้ร้องต้องการแบ่งมรดกในส่วนของผู้ร้อง เพื่อโอนให้แก่บุตรชายของผู้ร้อง จำนวน 2 คน ผู้ร้องไม่ได้เข้าไปในบ้านบนที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเวลาประมาณ 3 ปีแล้ว โดยบ้านหลังดังกล่าวมีน้องชายของ ผู้ร้องและภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสอาศัยอยู่มาประมาณ 10 ปีกว่าแล้ว คืออาศัยอยู่ตั้งแต่บิดาของผู้ร้องยังมีชีวิตอยู่ มีบางวันบุตรที่ติดมากับภริยาจะมานอนค้างที่บ้านหลังดังกล่าว น้องชายของผู้ร้องไม่ยอมให้กุญแจบ้านหลังดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องขอปั้มกุญแจน้องชายก็บอกว่ากลัวของในบ้านจะหาย ผู้ร้องอาศัยอยู่ที่บ้านของภริยาใหม่ได้ประมาณ 4 ปี แล้ว แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้ร้องจะไปอยู่ที่บ้านอันเป็นทรัพย์มรดกก็ไม่ได้เพราะไม่สะดวกที่จะอยู่ร่วมกันสองครอบครัวในบ้านหลังเดียวกัน ผู้ร้องจะดำเนินการอย่างไรดี
ประเด็นคำถาม
1 ผู้ร้องจะแบ่งมรดกอย่างไร จึงจะไม่เกิดปัญหาทั้งสามพี่น้อง
2 ผู้ร้องต้องให้เจ้าหน้าที่มารังวัด เพื่อแบ่งโฉนดหรือไม่ ผู้ร้องไม่มีเงิน
3 ผู้ร้องต้องการอาศัยในบ้านพร้อมกับครอบครัวใหม่จะทำอย่างไร
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1356-1358,1360,1363,1364,1599,1600
การให้คำปรึกษา
1 ผู้ร้องจะแบ่งมรดกอย่างไร จึงจะไม่เกิดปัญหาทั้งสามพี่น้อง
ตอบ ตามข้อเท็จจริง และประเด็นคำถามดังกล่าวข้างต้น ผู้ร้องเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มรดกย่อมตกทอดสู่ทายาทคือผู้ร้องพร้อมกับพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทันที เมื่อผู้ร้องได้จัดการมรดกโดยจดทะเบียนใส่ชื่อทายาทในโฉนดที่ดิน ทายาทดังกล่าวจึงมีฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมทุกคนมีส่วนเท่ากัน และเจ้าของรวมทุกคนมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกัน การจัดการธรรมดาให้ตกลงร่วมกันโดยคะแนนเสียงข้างมาก แต่การจัดการอันเป็นสาระสำคัญต้องตกลงกันโดยคะแนนเสียงข้างมาก และคะแนนข้างมากนั้นต้องมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์สิน การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ต้องตกลงกันด้วยความเห็นชอบของเจ้าของรวมทุกคน เจ้าของรวมคนหนึ่งมีสิทธิใช้ทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมได้ แต่การใช้ทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมนั้นต้องไม่ขัดกับสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ เจ้าของรวมมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้เว้นแต่วัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมมีลักษณะเป็นการถาวร ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้ ซึ่งกรณีของผู้ร้องนั้นไม่เรียกว่ามีวัตถุประสงค์ลักษณะเป็นการถาวรจึงสามารถเรียกให้แบ่งกันได้ ส่วนวิธีการแบ่งทรัพย์สินนั้น จะแบ่งทรัพย์สินกันเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยการขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกัน ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งอย่างไร หากเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดร้องขอต่อศาล ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่งก็ได้ ถ้าแบ่งกันแล้วแต่ส่วนที่แบ่งไม่เท่ากัน ศาลจะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้ หากการแบ่งไม่อาจทำได้ หรือจะเสียหายมาก ศาลจะสั่งให้ขายโดยการประมูลกันเองระหว่างเจ้าของรวม หรือจะขายทอดตลาดก็ได้
2 ผู้ร้องต้องให้เจ้าหน้าที่มารังวัด เพื่อแบ่งโฉนดหรือไม่
ตอบ การแบ่งทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของรวมนั้นมีวิธีการตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น กล่าวคือ ไม่ว่าจะแบ่งทรัพย์สินโดยวิธีแบ่งกันเองระหว่างเจ้าของรวม หรือร้องขอต่อศาลให้แบ่ง เมื่อถึงเวลาแบ่งก็ต้องจัดการแบ่งตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น การแบ่งแยกที่ดินมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าตนประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวม เจ้าพนักงานที่ดินก็จะให้คำแนะนำ และดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้
3 ผู้ร้องต้องการอาศัยในบ้านพร้อมกับครอบครัวใหม่จะทำอย่างไร
ตอบ ตามประเด็นคำถามดังกล่าวข้างต้น ผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพย์อันเป็นกรรมสิทธิ์รวมได้เพราะไม่ขัดกับสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่นๆ โดยบ้านและที่ดินแปลงดังกล่าวเจ้าของรวมทุกคนมีสิทธิอยู่อาศัยได้ แต่เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาที่ตามมา กล่าวคือ หากบ้านหลังดังกล่าวมีขนาดเล็กมีบุคคลหลายครอบครัวมาอยู่อาศัยอาจไม่สะดวกเพราะอาจคับแคบ วิธีแก้ปัญหาอาจต้องทำการแบ่งแยกโดยอาจแบ่งกรรมสิทธิ์กัน หรืออาจนำเอาที่ดินออกขายแล้วนำเงินมาแบ่งกันก็ได้