รับน้อง ทำร้ายร่างกาย ละเมิด
ข้อเท็จจริง ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม พศ.2556 ผู้ร้องได้เข้ากิจกรรมรับน้อง และถูกรุ่นพี่ที่คุมกิจกรรมทำการลงโทษด้วยการนั่งม้า(คาดว่าเป็นการจับให้คุกเข่ามือยันพื้นแล้วให้คนมานั่งทับหลัง) นั่งเก้าอี้(ไม่แน่ใจว่าต่างจากนั่งม้ายังไง) ให้วิ่ง และว้ากใส่(เข้าใจว่าเป็นการตะโกนด่าทอกดดันทางจิตวิทยา)
หลังเหตุการณ์ดังกล่าว1เดือน ผู้ร้องมีอาการชาที่เท้า แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้น เนื่องจากการทำกิจกรรมรับน้อง ผู้ร้องได้ทำการเอ็กซเรย์ ซึ่งผลคือกระดูกคด
โดยที่ก่อนทำเหตุการณ์รับน้องนั้น ผู้ร้องได้เคยเอ็กซเรย์มา ไม่พบว่ากระดูกคด แพทย์จึงได้ลงความเห็นว่าเป็นเพราะกิจกรรมรับน้อง
ผู้ร้องยังคงเข้ากิจกรรมรับน้องต่อไป และยังถูกว้ากอยู่เสมอ จนผู้ร้องเครียดและป่วยเป็นโรคซึมศร้า(ผู้ร้องมิได้แจ้งว่าผ่านการวินิจฉัยของแพทย์มาแล้วหรือยัง)
หลังจากนั้นผู้ร้องก็มีอาการปวดหลัง ต้องกินยามาโดยตลอดโดยไม่มีกำหนด(เข้าใจว่าทำภายใต้คำแนะนำของแพทย์)
ปัจจุบัน หลังเสร็จสิ้นรับน้องมาแล้วประมาณ1ปี รุ่นพี่ได้เรียกผู้ร้องเข้าไปว้ากอีก ซึ่งผู้ร้องได้ทำการบันทึกเสียงไว้
ประเด็นคำถาม
ผู้ร้องสามารถแจ้งความ-เอาผิดอะไรรุ่นพี่ได้บ้าง
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายอาญา 59,63,297,300
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 420,429,430,432,444,446,448
การดำเนินการให้คำปรึกษา
การที่รุ่นพี่สั่งลงโทษรุ่นน้องระหว่างกิจกรรมรับน้องด้วยวิธีการนั่งม้า (คาดว่าเป็นการจับให้คุกเข่ามือยันพื้นแล้วให้คนมานั่งทับหลัง)จนเป็นเหตุให้มีอาการชาที่เท้า หมอนรองกระดูกหลังทับเส้น และมีอาการกระดูกคด แม้จะไม่มีเจตนาทำร้ายร่างกายโดยตรง แต่การลงโทษด้วยลักษณะดังกล่าว ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าจะเป็นเหตุให้รุ่นน้องได้รับอันตรายแก่กายได้ การที่รุ่นน้องได้รับบาดเจ็บ รุ่นพี่คนดังกล่าวจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย
เมื่อการทำร้ายร่างกายดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ร้องป่วยเจ็บด้วยอาการปวดหลังมาโดยตลอดไม่มีกำหนดย่อมเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 297 (8) แม้รุ่นพี่จะไม่มีเจตนาทำให้รุ่นน้องได้รับอันตรายสาหัสแต่ก็เป็นผลธรรมดาที่ย่อมเกิดขึ้นได้จากการทำร้าย รุ่นพี่จึงต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นตามมาตรา 297 (8)ประกอบมาตรา 63
เมื่อพิจารณาว่ารุ่นพี่มีความรับผิดในทางอาญาแล้ว ย่อมถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายอันทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำโดยจงใจ รุ่นพี่มีความรับผิดในทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด
รุ่นพี่ในฐานะรุ่นพี่ที่จัดกิจกรรม ย่อมควรจะมีการพิจารณาใคร่ครวญอย่างดีว่ากิจกรรม การลงโทษแบบไหนที่อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่กายรุ่นน้อง ก็ไม่ควรนำมาใช้
ความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสนั้นนั้นเป็นความผิดอันยอมความมิได้ จึงต้องถืออายุความทั่วไปตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95
เมื่อการกระทำของรุ่นพี่ถือเป็นการละเมิดอันเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคสอง บัญญัติว่า “แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความอาญายาวกว่าที่กล่าวมาไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาใช้บังคับ” ดังนั้นตามปัญหานี้จึงเป็นกรณีที่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาฐานทำร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 จึงไม่นำอายุความ 1 ปีในคดีแพ่งมาใช้บังคับ
ผู้ร้องสามารถเรียกค่ารักษาพยาบาลอีกทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกัน(เช่นค่าเดินทางไปรักษาพยาบาล เป็นต้น)ได้ตามที่จ่ายไปจริงตามมาตรา 444 และความทุกข์ทรมานเจ็บปวดที่มิได้เป็นตัวเงิน ก็ยังอาจเรียกประเมินเป็นตัวเงินได้ตาม.มาตรา 446
ในการรับผิดชดใช้ทางแพ่งนั้น หากรุ่นพี่มีการร่วมกันกระทำละเมิด หรือยุยงกันให้กระทำละเมิด ก็ต้องร่วมกันรับผิดตามมาตรา 432
หากรุ่นพี่ยังเป็นผู้เยาว์ บิดามารดา หรือ ครูบาอาจารย์ หรือผู้รับดูแล ก็ต้องร่วมผิดตามมาตรา 429 หรือ430 ด้วยแล้วแต่กรณี
สรุป ผู้ร้องสามารถรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด แล้วไปแจ้งความร้องทุกข์เอาผิดรุ่นพี่ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุได้
แต่อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงอาจมองได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาท ซึ่งรุ่นพี่ก็มีความรับผิดอาญา และรับผิดในค่าสินไหมทดแทนเช่นกัน