ทางจำเป็น
ข้อเท็จจริง
มีที่ดินน.ส.3 จำนวน 3 แปลง ซึ่งเคยเป็นที่ดินผืนเดียวกันมาก่อนเมื่อตอนปู่กับย่ายังมีชีวิตอยู่ โดยหัวและท้ายของที่ดินติดกับถนนสาธารณะ ต่อมาได้ออกโฉนด แล้วแบ่งที่ดินให้แก่พี่น้องจำนวน 3 คน ส่วนของผู้ร้องได้ที่ดินแปลงที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งที่ดินแปลงนี้เคยมีทางออก แต่ถูกไถกลบ ทำให้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ปัจจุบันผู้ร้องได้ขอเดินผ่านที่ดินของบุคคลอื่นที่อยู่ติดกันเพื่อออกสู่ทางสาธารณะ ผู้ร้องเคยขอเจรจาซื้อทางออก แต่ญาติของผู้ร้องที่เป็นเจ้าของที่ดินได้บ่ายเบี่ยงที่จะตอบตกลง ผู้ร้องจะยื่นข้อเสนออันเป็นวิธีแก้ปัญหาของเรื่องดังกล่าว คือ ผู้ร้องขอซื้อทางออกโดยจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนให้ แต่ขอให้เจ้าของที่ดินจดทะเบียนภาระจำยอม เพราะผู้ร้องกังวลว่าจะเกิดปัญหาในอนาคต หรืออีกวิธีคือผู้ร้องได้ขอแลกพื้นที่ที่เสียไป
ประเด็นคำถาม
1 ถ้าเจรจาแล้วญาติคนดังกล่าวไม่ยอม หากเราจะฟ้องคดีต่อศาลจะมีทางชนะคดีหรือไม่ โดยอ้างมาตรา 1349 , 1350
2 ถ้าขอเปิดทางให้รถกระบะวิ่งเข้าได้ประมาณ 3 เมตร ได้หรือไม่
3 ถ้าเราชนะคดี ค่าทนายความ ค่าดำเนินการในศาลใครจะเป็นผู้จ่าย
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349,1350 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161
การให้คำปรึกษา
1 ถ้าเจรจาแล้วญาติคนดังกล่าวไม่ยอม หากเราจะฟ้องคดีต่อศาลจะมีทางชนะคดีหรือไม่ โดยอ้างมาตรา 1349 , 1350
ตอบ ตามข้อเท็จจริงและประเด็นคำถามดังกล่าวข้างต้น ต้องพิจารณาก่อนว่าทางจำเป็นคืออะไร ทางจำเป็น หมายถึง ที่ดินที่ถูกล้อมด้วยที่ดินแปลงอื่นอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ หรือมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ไม่สะดวก เช่น จะต้องข้ามบึง ทะเล หรือที่ลาดชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมาก กฎหมายจึงให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมให้มีสิทธิผ่านที่ดินแปลงอื่นซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ต้องเป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ หรือมีแต่ไม่สะดวก ทางจำเป็นได้มาโดยผลของกฎหมาย การได้สิทธิใช้ทางจำเป็น ไม่จำต้องมีนิติกรรมสัญญาระหว่างเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมกับเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ และไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะทางจำเป็นเป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย และผู้ที่จะขอใช้ทางจำเป็นไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิมานาน ถูกล้อมวันไหน เวลาใด แม้จะเพิ่งเข้ามาอยู่ในที่ดินซึ่งถูกล้อมก็ขอใช้ทางจำเป็นได้ผู้ที่ได้สิทธิผ่านทางไม่สามารถได้มาซึ่งทางจำเป็นโดยอายุความได้ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลานานเท่าใด เพราะการผ่านทางหรือทำทางจำเป็นนั้น ถือเป็นการผ่านโดยสุจริตและเคารพในสิทธิของเจ้าของที่ดินผู้มีสิทธิในทางเดินผ่าน แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายก็ไม่ห้ามเจ้าของที่ดินที่จะตกลงกันเพื่อให้จดทะเบียนเป็นภาระจำยอมได้ วิธีทำทางต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่านและต้องคำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุด หรือต้องเป็นทางที่ใกล้ที่สุด ผู้ขอเปิดทางต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อออกสู่ทางสาธารณะยกเว้น กรณีที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงซึ่งถูกล้อม มีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินเฉพาะบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน ผู้ที่ขอใช้ทางจำเป็นต้องเป็นเจ้าของที่ดินไม่ใช่เจ้าของโรงเรือน เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมเท่านั้นที่จะมีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็น หากเป็นเจ้าของโรงเรือนเท่านั้นไม่ใช่เจ้าของที่ดิน แม้จะถูกที่ดินอื่นล้อมก็ไม่มีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็น ทางจำเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดินที่จะโอนไปพร้อมกับที่ดินด้วย การที่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่รับโอนมามีสิทธิใช้ทางพิพาทในที่ดินในฐานะทางจำเป็นมาก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าของที่ดินที่รับโอนมาจะได้สิทธิในทางพิพาทนั้นด้วยอย่างภาระจำยอม ทางจำเป็นดังกล่าวย่อมสิ้นไปเมื่อความจำเป็นหมดลง คือ เมื่อที่ดินมีทางออกสู่ทางสาธารณะแล้ว ทางจำเป็น เป็นการได้สิทธิโดยอำนาจของกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 โดยไม่ต้องจดทะเบียน การใช้ทางจำเป็น ไม่ถูกจำกัดว่าต้องใช้เดินอย่างเดียว มีสิทธิใช้รถยนต์ผ่านทางได้ บางกรณีศาลฎีกาวินิจฉัยว่าบ้านเมืองปัจจุบันและการประกอบอาชีพของจำเลยที่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ในการเดินทางมาประกอบการพิจารณาด้วยแต่ถ้าก่อนซื้อที่ดินมาเจ้าของที่ดินรู้อยู่แล้วว่าทางจำเป็นใช้เฉพาะการเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อซื้อที่ดินมาแล้วจะขอใช้รถยนต์ผ่านทางจำเป็นไม่ได้ ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมเป็นความเสียหายอันเกิดจากเหตุที่มีทางผ่านนั้น แต่กฎหมายไม่บังคับว่าจะต้องใช้ค่าทดแทนก่อนจึงจะใช้ทางจำเป็นได้ เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมมีสิทธิฟ้องให้เปิดทางจำเป็นได้โดยไม่ต้องเสนอค่าทดแทนก็ได้ เมื่อโจทก์ไม่เสนอค่าทดแทนแก่จำเลย และจำเลยไม่ฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนจากโจทก์คดีไม่มีประเด็นเรื่องค่าเสียหาย จำเลยต้องไปว่ากล่าวเป็นคดีใหม่ ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นต้องใช้โดยมีขอบเขตด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกบังคับใช้ทางจำเป็นด้วย ตามข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าวมานั้น เป็นกรณีที่ดินไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะนั้นเป็นที่ดินที่ได้แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงอื่นถือว่าเป็นทางจำเป็นกรณีที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงที่ไม่ทางออกดังกล่าว มีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินออกสู่ทางสาธารณะได้ แต่ขอเปิดทางได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันโดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน การแบ่งแยกที่ดินเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ กรณีนี้จะเรียกร้องทางเดินได้เฉพาะที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนเท่านั้น ไม่รวมถึงที่ดินที่เคยเป็นแปลงเดียวกับที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมา เช่น ที่ดินของ นาย ก. แบ่งแยกจากโฉนดเลขที่ 50 ถือว่าแบ่งจากโฉนดเลขที่ 50 เท่านั้น แม้โฉนดเลขที่ 50 จะเคยเป็นแปลงเดียวกับโฉนดเลขที่ 49 ของนาย ข. มาก่อนก็ตาม ไม่ถือว่าโฉนดโจทก์แบ่งจากโฉนดเลขที่ 49 ไม่ได้ นาย ก. เรียกร้องเอาทางพิพาทจากโฉนดเลขที่ 49 ไม่ได้ เรียกได้เฉพาะโฉนดเลขที่ 50 เท่านั้น ต้องเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินทำให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะที่มีอยู่เดิมก่อนแบ่ง ไม่ใช่ทางสาธารณะเกิดภายหลังแบ่งที่ดินแล้ว การแบ่งแยกต้องเป็นเหตุให้ที่ดินที่แบ่งแยกบางแปลงไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ถ้าขณะแบ่งแยกมีทางผ่านไปยังทางสาธารณะได้ กรณีเช่นนี้ไม่ใช่กรณีตาม มาตรา 1350 หากที่ดินแบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงอื่นซึ่งอยู่ติดกับคลองสาธารณะ แม้เจ้าของที่ดินที่แบ่งแยกจะมีความจำเป็นต้องเดินทางโดยใช้รถยนต์เป็นพาหนะไม่สะดวกที่จะเดินทางโดยทางเรือ แต่มาตรา 1350 บัญญัติให้เจ้าของที่ดินแปลงที่แบ่งแยกเรียกร้องเอาทางเดินได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกกันเท่านั้น ไม่มีอำนาจฟ้องให้เปิดทางจากที่ดินแปลงอื่นเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้อีก เจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่อันเนื่องจากการแบ่งแยกหรือแบ่งโอน มีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นผ่านที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาได้ แม้จะมีทางเดินผ่านที่ดินผู้อื่นสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม มาตรา 1350 ต้องเป็นกรณีแบ่งที่ดินทำให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่เดิมก่อนแบ่ง ถ้าทางสาธารณะเกิดขึ้นหลังจากแบ่งแยกแล้วไม่เข้ามาตรา 1350 แต่ใช้มาตรา 1349 การฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น มาตรา 1350 ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว เมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตรา 1350 ได้ กล่าวโดยสรุป เมื่อที่ดินของผู้ร้องได้มาโดยการแบ่งแยกมา จากที่ดินมีโฉนดโดยที่ดินแปลงเดิมก่อนแบ่งแยกมีทางออกสู่ทางสาธารณะ เมื่อทำการแบ่งแยกแล้วเป็นเหตุให้ที่ดินที่แบ่งแยกออกมาไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่แบ่งแยกออกมาแล้วไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะมีสิทธิขอเปิดทางจากที่ดินแปลงที่ตนได้ขอแบ่งแยกออกมาได้ โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน ทางจำเป็นได้มาโดยผลของกฎหมาย เมื่อกฎหมายบัญญัติให้เปิดทางจำเป็นในกรณีดังกล่าวได้แล้ว ผู้ร้องก็ย่อมใช้สิทธิตามกฎหมายได้ หากเจ้าของที่ดินที่ผู้ร้องได้แบ่งแยกที่ดินออกมาไม่ยอมเปิดทางให้ ผู้ร้องก็ย่อมจะใช้สิทธิทางศาลโดยการฟ้องร้องคดีขอให้เปิดทางดังกล่าวนี้ได้ตามกฎหมาย ส่วนประเด็นว่าจะชนะคดีหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามพยานหลักฐานในคดี ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างหรือไม่ และ ที่ดินดังกล่าวไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเพราะเหตุที่ได้แบ่งแยกแบ่งโอนที่ดินหรือไม่ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง แล้วย่อมเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ผู้ร้องจะขอเปิดทางได้
2 ถ้าขอเปิดทางให้รถกระบะวิ่งเข้าได้ประมาณ 3 เมตร ได้หรือไม่
ตอบ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินที่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะขอเปิดทางจำเป็นดังกล่าวผ่านที่ดินของเจ้าของที่ดินที่ผู้ร้องได้แบ่งแยกออกมาแล้ว ในเรื่องขนาดของทางที่เราจะขอเปิดนั้น เมื่อทางจำเป็น เป็นการได้สิทธิโดยอาศัยอำนาจของกฎหมาย ซึ่งไม่ต้องจดทะเบียน การใช้ทางจำเป็นไม่ถูกจำกัดว่าจะต้องใช้เดินอย่างเดียว ผู้ขอเปิดทางจึงมีสิทธิใช้รถยนต์ผ่านทางได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 653/2516 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าบ้านเมืองปัจจุบัน และการประกอบอาชีพของจำเลยที่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ในการเดินทางมาประกอบการพิจารณาด้วย แต่ถ้าก่อนซื้อที่ดินมาเจ้าของที่ดินที่มีสิทธิขอเปิดทางรู้อยู่แล้วว่าทางจำเป็นใช้เฉพาะการเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อซื้อที่ดินมาแล้วจะขอใช้รถยนต์ผ่านทางจำเป็นไม่ได้ แต่ที่สำคัญ ที่ดินที่จะขอเปิดและวิธีทำทางผ่านนั้น ต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็น ของผู้มีสิทธิจะผ่านกับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุดที่จะเป็นได้
3 ถ้าเราชนะคดี ค่าทนายความ ค่าดำเนินคดีในศาลใครจะเป็นผู้จ่าย
ตอบ ความรับผิดในชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียม กฎหมายกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตน หรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งคู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปก่อนได้ ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี ส่วนค่าทนายความนั้น ให้ศาลกำหนดค่าทนายความตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรไม่เกินอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตารางนี้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าคดีละสามพันบาท การกำหนดค่าทนายความที่คู่ความจะต้องรับผิดนั้น ให้ศาลพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดีเทียบดูเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนั้น อัตราขั้นสูงในศาลชั้นต้น ในคดีมีทุนทรัพย์ร้อยละ 5 ส่วนคดีไม่มีทุนทรัพย์ อัตราขั้นสูงในศาลชั้นต้น 30,000 บาท