ยืมใช้คงรูป
ข้อเท็จจริง
เมื่อประมาณเดือน พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2556 มีคนขับรถถอยหลังมาชนด้านหน้าบริเวณข้างซ้ายของรถผู้ร้องเป็นเหตุให้ไฟรถของผู้ร้องแตก ต่อมาอีกประมาณ 2 วัน ผู้ร้องต้องไปทำธุระที่กรุงเทพมหานคร ผู้ร้องไม่อยากขับรถที่ไฟด้านหน้าแตก คู่กรณี(อดีตแฟนของผู้ร้อง) บอกผู้ร้องว่าให้เอารถของเขามาใช้ก่อน รถของเขาเป็นรถยนต์ยี่ห้อ Nissan almera ผู้ร้องก็ตกลง ต่อมาระหว่างที่ผู้ร้องขับรถกลับมาจังหวัดกาญจนบุรี รถก็ประสบอุบัติเหตุที่จังหวัดนครปฐม เนื่องจากมีแกงค์วางหินบริถนนเพชรเกษม มีภาพข่าวเรื่องดังกล่าวนี้ในเว็บกระปุก ทำให้รถคันที่ผู้ร้องขับเสียหลักข้ามเลนไปชนขอบทาง เป็นเหตุให้ด้านหน้ารถเสียหาย แต่ผู้ร้องกับเพื่อนไม่ได้รับบาดเจ็บมาก ในวันดังกล่าวผู้ร้องได้จ่ายค่าปรับ ค่ารถลาก โทรติดต่อกับบริษัทประกันภัยให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว บริษัท ประกันภัย เสนอว่าให้เอารถไปซ่อมที่อู่ซ่อมรถแทนการเอาไปซ่อมที่ศูนย์ เพราะว่ารถ Nissan มีศูนย์เดียว ถ้าซ่อมที่อู่ซ่อมรถจะไวกว่า ผู้ร้องจึงตกลงซ่อมที่อู่ซ่อมรถ แต่ความจริงแล้วรถคันผู้ร้องขับนั้นได้เอาประกันชั้น 1 ไว้ ในระหว่างซ่อมผู้ร้องเอารถของผู้ร้องให้เจ้าของรถที่ซ่อมอยู่ยืมไปใช้จนกว่ารถจะซ่อมเสร็จ ต่อมาผู้ร้องกับแฟนของผู้ร้อง(เจ้าของรถคันที่ซ่อม) ก็เลิกคบกัน อดีตแฟนของผู้ร้องบอกว่าคนในครอบครัวของเขาจะเอาเรื่องผู้ร้อง ผู้ร้องถามว่าจะเอาค่าเสียหายเท่าไหร่ เขาบอกว่าต้องรอให้รถซ่อมเสร็จก่อน แล้วเขาจะเรียกค่าเสียหายเอง ผู้ร้องบอกว่าถ้าจะเอาค่าเสียหายต้องเอารถของผู้ร้องมาคืนก่อน เขาก็ไม่ยอม เขาบอกว่าจะเอารถไว้ใช้กับเรียกค่าเสียหายด้วย ตอนแรกเขาเสนอว่าจะขอแลกรถกับเราเลย ผู้ร้องไม่ยอมเพราะรถของผู้ร้องจ่ายเงินดาวน์ไปครึ่งหนึ่งแล้ว แต่รถเขาดาวน์ไปไม่ถึงแสน ผู้ร้องซื้อรถมาหลังจากเขาซื้อมาประมาณ 3-4 เดือน ราคารถก็ต่างกันมาก ผู้ร้องเลยตัดสินไปแจ้งความ ตำรวจบอกว่ากรณีนี้น่าจะเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เขานัดให้เราไปตกลงกับเขาในตอนเย็น เขามาพร้อมกับทนายความ แต่ฝ่ายผู้ร้องมีผู้ร้องกับยายและน้า ทนายกับตำรวจเขาแสดงท่าทีเหมือนกันรู้จักสนิทสนมกัน เพราะเหมือนกับเขาโทรมาคุยกันเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายเราเป็นฝ่ายผิดหมดเลย เขาบอกว่าให้ทำตามที่ตกลงกันจนกว่าจะซ่อมเสร็จ ผู้ร้องเถียงว่าต้องเป็นกรณีไม่มีการเรียกค่าเสียหาย ทนายของฝ่ายเขาพูดว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาเราอาจจะเอารถไปแกล้งทำให้รถเกิดความเสียหายก็ได้ รถพังก็ไม่ยอมไปซ่อมที่ศูนย์จะเอาไปซ่อมที่อู่ได้อย่างไร ผู้ร้องก็บอกว่าจะไม่รู้ได้อย่างไร เพราะเขาเองก็ไปกับเรา แต่เขาเงียบ ผู้ร้องบอกให้ตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่าเขาเอารถเราไปใช้ แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความ ตำรวจบอกว่าลงไปก็ไม่มีผลอะไร ทนายฝ่ายเขาบอกว่าถ้าลงประจำวันให้คุณเซนต์คนเดียวนะ ผ่ายเขาจะไม่เซนต์ ผู้ร้องเลยกลับบ้านเพราะเราเถียงอะไรไม่ได้กฎหมายเราก็ไม่รู้ ต่อมาประมาณ 2 เดือนที่แล้ว ผู้ร้องย้ายงานไปเป็นเซลล์เดินทางไปกลับต่างจังหวัด ยายของผู้ร้องได้โทรติดต่อเขาให้เอารถมาคืนเพื่อผู้ร้องจะได้มีรถในการทำงาน เขาก็ยอมคืนรถให้ ตอนที่เราไปเอารถของเราคืนพบว่ารถเราเป็นรอยเยอะมาก และเลขไมล์เพิ่มขึ้นเกือบ 20,000 เสกิร์ตหน้า ด้านข้างเยินหมด ด้านท้ายก็ยื่น ประตูด้านข้างก็เป็นรอยครูด ผู้ร้องถามเขาเกี่ยวกับสภาพรถของผู้ร้อง เขาบอกว่าบิดากับน้องชายของเขานำไปขับแล้วขับรถตกหลุมใหญ่มาคนละครั้ง ส่วนที่เหลือเขาไม่รู้ ผู้ร้องก็แจ้งบริษัทประกัน ให้เปลี่ยนให้ตามปกติ ผู้ร้องโทรให้บริษัทประกันออกใบเคลมรอยเก่าตรงคานประตู เขาก็ไม่ยอมให้ประกันเข้าไปถ่ายรูปรถ ต่อมาเมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ร้องโทรไปสอบถามเรื่องรถที่ซ่อมจากอู่ซ่อมรถ อู่ซ่อมรถบอกว่านัดเจ้าของรถให้มารับรถในวันพฤหัสบดี เราก็โทรไปบอกเขา เขาบอกว่าให้เราไปรับรถให้เขาด้วย ผู้ร้องบอกว่าอู่รถให้เจ้าของรถไปรับเท่านั้น ขณะนั้นผู้ร้องอยู่จังหวัดสงขลา วันพฤหัสเขาก็โทรให้เราแฟกซ์บัตรประชาชนไปให้ เขาบอกว่าจะเอาไปรับรถ ผู้ร้องก็เลยต้องโทรศัพท์ไปถามอู่ อู่บอกว่าไม่ต้องใช้ ใช้เฉพาะเจ้าของรถเท่านั้น ต่อมาเมื่อประมาณสัปดาห์ที่แล้ว เขาก็โทรมาเรียกค่าเสียหายกับเรา หนึ่งแสนบาท ผู้ร้องบอกว่าไม่มี เขาเรียกตามราคาที่อู่ประเมิน ผู้ร้องได้โทรไปคุยกับบริษัทประกันภัย บริษัทประกันภัยบอกว่าผู้ร้องไม่ต้องจ่ายค่าซ่อม เพราะบริษัทประกันภัยจ่ายหมดแล้ว ผู้ร้องจึงเจรจากับเขาว่าผู้ร้องจะจ่ายค่าของเหลวที่ประกันไม่ได้ครอบคลุม เป็นเงิน 10,000 บาท ค่าต่อประกันชั้นหนึ่ง 20,000 บาท ค่าทำขวัญ 10,000 บาท รวม 40,000 บาท แต่เขาไม่ยอม ต่อมาอาของเขาได้โทรศัพท์มาอีกว่าเขาจะเอาเงินไปออกรถใหม่คือ 100,000 บาท เราไม่มีเงิน ผู้ร้องมีอายุเพียง 23 ปี เพิ่งทำงานได้ไม่นาน
ประเด็นคำถาม
1. เราต้องจ่าย 100,000 บาท หรือไม่
2. มีจดหมายจากทนายฝ่ายเขาส่งมาที่บ้าน เราควรจะทำอย่างไรต่อไป
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ม.205,ม.640,ม.642-647
การให้คำปรึกษา
1 เราต้องจ่าย 100,000 บาท หรือไม่
ตอบ ในกรณีที่ผู้ร้องได้ยืมรถยนต์ของอดีตแฟนของผู้ร้องมาใช้ เป็นเรื่องของการยืมใช้คงรูป เป็นสัญญายืมประหนึ่ง คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว ด้วยบทบัญญัตินี้ คู่สัญญายืมจึงมีสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม อีกฝ่ายเรียกว่าผู้ยืม วัตถุประสงค์ของสัญญายืมใช้คงรูป คือ การที่ผู้ให้ยืมให้ผู้ยืม ยืมทรัพย์สินของตนโดยไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืม ด้วยเหตุนี้ ผู้ยืมจึงไม่ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ตนยืม และผู้ให้ยืมจะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่นำออกให้ยืมหรือไม่ก็ได้ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงย่อมติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนที่ถูกนำไปให้ผู้อื่นยืมได้ ในกรณีที่ผู้ให้ยืมนำทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของตนออกให้ยืม และทรัพย์สินนั้นถูกเรียกคืนขณะที่ผู้ยืมยังใช้สอยไม่เสร็จ ผู้ยืมจะปฏิเสธไม่คืนแก่เจ้าของที่แท้จริงไม่ได้ ประกอบกับที่สัญญายืมมิใช่สัญญาต่างตอบแทน ไม่ก่อหน้าที่และความรับผิดใด ๆ แก่ผู้ให้ยืม ผู้ยืมจะฟ้องผู้ให้ยืมให้รับผิดเพราะตนถูกรอนสิทธิที่จะใช้ทรัพย์สินจนเสร็จก็มิได้ด้วย เว้นแต่ผู้ให้ยืมกับผู้ยืมจะตกลงเรื่องความรับผิดนี้ไว้ตั้งแต่ทำสัญญายืม การที่ผู้ยืมตกลงจะคืนทรัพย์สินที่ยืมให้แก่ผู้ยืมเมื่อตนใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว ด้วยเหตุที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวยังคงอยู่กับเจ้าของ มิได้โอนมายังผู้ยืม หากทรัพย์สินนั้นเกิดชำรุดเสียหายเพราะเหตุสุดวิสัยอันจะโทษผู้ยืมมิได้ ความพิบัติที่เกิดขึ้นนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าของทรัพย์สินเอง ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด สัญญายืมใช้คงรูปเมื่อบริบูรณ์แล้ว ไม่ก่อหน้าที่แก่ผู้ให้ยืมให้ต้องรับผิดเพราะความชำรุดบกพร่องใด ๆ ที่เกิดต่อทรัพย์สินอันให้ยืม เว้นแต่เขารู้ดีอยู่แล้วว่ามีความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินแล้วให้ยืมไปโดยไม่บอกกล่าวผู้ยืม อันเป็นผลให้ผู้ยืมไม่อาจใช้สอยทรัพย์สินนั้นได้ด้วยดี ผู้ให้ยืมอาจต้องรับผิดตามหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยสัญญา เว้นแต่คู่สัญญาตกลงกันให้ผู้ให้ยืมรับผิด
ผู้ยืมย่อมมีหน้าที่และความรับผิดในสัญญายืมกล่าวคือ ป.พ.พ. ม.642-647 ผู้ยืมมีหน้าที่ต้องออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ค่าส่งมอบ และค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม ค่าบำรุงทรัพย์สินดังกล่าว หน้าที่เกี่ยวแก่การใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม หน้าที่สงวนรักษาและคืนทรัพย์สินนั้น
ป.พ.พ. ม.642 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่ออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ตลอดจนค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม ค่าส่งมอบทรัพย์สิน คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพราะผู้ให้ยืมส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืม เช่น ค่าขนส่ง เคลื่อนย้าย หรือนำพาไปซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นต้น ค่าส่งคืนทรัพย์สิน คือ ค่าใช้จ่ายอันตรงกันข้ามกับค่าส่งมอบทรัพย์สิน กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ยืมส่งทรัพย์สินที่ยืมกลับคืนไปให้แก่ผู้ให้
ป.พ.พ. ม.647 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่ออกค่าใช้จ่ายอันเป็นปรกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืม ค่าใช้จ่ายเพื่อยังให้ทรัพย์สินที่ยืมมาอยู่ในสภาพปรกติดี เช่น ยืมรถยนต์มาใช้ขับ ค่าน้ำมันเครื่อง ค่าล้างรถ ค่าตรวจสภาพรถ จัดเป็นค่าใช้จ่ายปรกติสำหรับบำรุงรักษารถยนต์ ส่วนค่าใช้จ่ายอันไม่ปรกตินั้น แม้เพื่อบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมมา ผู้ยืมก็ไม่จำต้องรับผิดชอบ ผู้ให้ยืมต้องรับผิดชอบเอง เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงกันให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียว หรือให้รับผิดชอบร่วมกันก็ได้
ป.พ.พ. ม.643 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่เกี่ยวแก่การใช้สอยทรัพย์สิน คือ
1) หน้าที่ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเอง ห้ามให้บุคคลภายนอกใช้สอย เพราะผู้ให้ยืมย่อมพิจารณาแล้วว่าผู้ยืมเหมาะสมที่จะใช้ทรัพย์สินนั้น
2) หน้าที่ใช้สอยทรัพย์สินให้สอดคล้องกลับความมุ่งหมายแห่งการยืมมาโดยปรกติอย่างที่ควรจะใช้
3) หน้าที่ไม่เอาทรัพย์สินไว้นานเกินควร ให้คืนเมื่อได้เวลาคืน
หากผู้ยืมฝ่าฝืนหน้าที่ทั้งนี้ เขาต้องรับผิดหากทรัพย์สินที่ยืมสูญหาย หรือเสียหายอย่างใด ๆ แม้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยซึ่งปรกติแล้วเขาไม่ต้องรับผิดก็ตาม เพราะถือว่าผู้ยืมผิดสัญญา หากไม่ฝ่าฝืนหน้าที่นี้ทรัพย์สินนั้นก็อาจไม่ประสบความสูญหายหรือเสียหาย เช่น กรณีที่อดีตแฟนของผู้ร้องนำรถยนต์ที่ยืมจากผู้ร้องไปให้บุคคลอื่นขับโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ร้องแล้วรถยนต์ของผู้ร้องเกิดความเสียหาย อดีตแฟนของผู้ร้องต้องรับผิดในกรณีรถยนต์เสียหายบุบสลาย
ป.พ.พ. ม.645 เมื่อผู้ยืมฝ่าฝืนหน้าที่ข้างต้น ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญายืมใช้คงรูปนี้เสียก็ได้ และเมื่อเลิกสัญญาแล้วก็เรียกทรัพย์สินคืนได้
ป.พ.พ. ม.644 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่ สงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง เมื่อให้ยืมทรัพย์สินไปแล้ว ผู้ให้ยืมย่อมคาดหวังว่าผู้ยืมจะดูแลรักษาทรัพย์สินอย่างดี เพาะกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นยังอยู่ที่ผู้ให้ยืม ถ้าทรัพย์สินเสียหายความเสียหายย่อมตกเป็นพับแก่ผู้ให้ยืมเอง หมายความว่า ให้รักษาทรัพย์สินที่ยืมมาอย่างที่คนทั่วไปพึงจะใช้ทรัพย์สินของตน ต้องไม่ต่ำกว่าระดับนี้ และไม่จำเป็นต้องมากกว่า เมื่อผู้ยืมไม่สงวนรักษาทรัพย์สินไว้ให้ดี จนเป็นเหตุให้ไม่อาจคืนทรัพย์สินให้ในสภาพดีดังเดิมหรือไม่มีจะคืนให้เลย ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืม ป.พ.พ. ม.645 ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญายืมใช้คงรูปนี้เสียก็ได้
ป.พ.พ. ม.646 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่ส่งทรัพย์สินที่ยืมคืนให้แก่ผู้ให้ยืมตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ ถ้าไม่ได้กำหนด ให้คืนเมื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการยืมแล้ว แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกทรัพย์สินคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาล่วงไปพอสมควรแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเรียบร้อยแล้ว โดยไม่จำต้องคำนึงว่าผู้ยืมจะได้ใช้สอยจริง ๆ หรือไม่ หากตกลงกำหนดสถานที่คืนทรัพย์สินกันไว้ด้วยก็ให้เป็นไปตามนั้น หากไม่ได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. ม.324 ว่าให้นำไปคืน ณ สถานที่ที่ยืมมา เนื่องจากทรัพย์สินที่ยืมจัดเป็น ทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง
เมื่อทรัพย์สินที่ยืมเกิดสูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยอันโทษผู้ยืมมิได้ เช่น ยืมรถยนต์มาแล้วรถเกิดประสบอุบัติเหตุเพราะมีโจรหรือผู้ก่อการร้ายวางแผนเพื่อจะเอาทรัพย์สินที่ผู้ยืมได้ยืมมา แล้วรถที่ยืมมาเกิดสูญหายหรือเสียหายลง ย่อมถือว่าเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นจากบุคคลภายนอกอันโทษผู้ยืมมิได้ ผู้ยืมไม่ต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืม ไม่ต้องใช้ราคาทรัพย์สิน หรือใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างใด ๆ เลย และผู้ยืมชอบที่จะฟ้องเรียกร้องเอากับบุคคลที่สามผู้ทำให้ทรัพย์สินวิบัติไป
เมื่อถึงกำหนดเวลาคืนแล้ว แต่มีเหตุให้คืนทรัพย์สินที่คืนมิได้อันจะโทษผู้ยืมก็มิได้ด้วย ย่อมไม่ถือว่าผู้ยืมผิดนัดในการคืนทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. ม.205
กล่าวโดยสรุปตามประเด็นคำถามของผู้ร้องนั้น ผู้ร้องไม่จำต้องจ่ายเงินจำนวน 100,000 บาท ให้แก่อดีตแฟนของผู้ร้องเพราะว่าตามกฎหมายในเรื่องการยืมใช้คงรูป เมื่อผู้ร้องได้ใช้รถยนต์ที่ยืมมาจากอดีตสามีของผู้ร้อง โดยผู้ร้องได้สงวนทรัพย์สินซึ่งยืมมาเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง ผู้ร้องได้ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมเอง ไม่นำทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลอื่นใช้สอย ไม่เอาทรัพย์สินที่ยืมมาไว้นานเกินควร เมื่อรถยนต์ที่ยืมมาเกิดเสียหายบุบสลายไปด้วยอันโทษผู้ร้องมิได้ และเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นจากบุคคลภายนอก ผู้ร้องไม่ต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืม ไม่ต้องใช้ราคาทรัพย์สิน หรือใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างใด ๆ เลย
2 มีจดหมายจากทนายฝ่ายเขาส่งมาที่บ้าน เราควรจะทำอย่างไรต่อไป
ตอบ ต้องดูว่าเป็นจดหมายเกี่ยวกับเรื่องอะไร เป็นการทวงถามให้เราชำระหนี้หรือไม่ หรือให้เราไปเจรจาไกล่เกลี่ยกัน หากเขาทำหนังสือทวงถามให้เราชำระหนี้ ต้องพิจารณาว่าเราเป็นหนี้เขาตามกฎหมายหรือไม่ หากเป็นกรณีดังกล่าวข้างต้น เมื่อผู้ร้องไม่จำต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่อดีตแฟนของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องมิได้ค้างชำระหนี้เขาตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่จำต้องดำเนินการใดๆ เพื่อขวนขวายชำระหนี้เขาแต่อย่างใด