เป็ดเข้านาข้าวที่ยังไม่เก็บเกี่ยวผล
ข้อเท็จจริง
1.เจ้าของเป็ดชำระค่าเสียหาย 1,000 บาทให้กับเจ้าของนาข้าว ตามที่เจ้าของนาข้าวอ้างว่านาข้าวที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตเสียหายจากการที่เป็ดเข้าไป ทั้งที่ไม่มีหลักฐานความเสียหายชัดเจน และเมื่อเจ้าของนาข้าวได้ชำระค่าเสียหายแล้ว ยังเรียกร้องกับคุณตาของเจ้าของเป็ดอีก
2.เจ้าของเป็ดอ้างว่า เจ้าของนาข้าวได้กล่าวหาคนเฝ้าเป็ดกับคุณตา ว่าเป็น “พม่าที่ไหน ท่าทางเหมือนเมายา นั่งเบลอ” ซึ่งคนเฝ้าเป็ดคือสามีของเจ้าของเป็ด
ประเด็นคำถาม
1.เจ้าของเป็ดชำระค่าเสียหาย 1,000 บาทให้กับเจ้าของนาข้าวไปแล้ว ทั้งที่ไม่มีหลักฐานความเสียหายชัดเจนจะเรียกเงินคืนได้หรือไม่
2.เจ้าของเป็ดจะฟ้องเจ้าของนาข้าวข้อหาหมิ่นประมาท จากคำพูดของเจ้าของนาข้าว ที่ว่าสามีของเจ้าของเป็ดซึ่งเป็นคนเฝ้าเป็ด กับคุณตาได้หรือไม่
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423, 433
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 330, 333, 358
การให้คำปรึกษา
1.ประเด็นการชดใช้ค่าเสียหาย
การที่เจ้าของเป็ดได้ยอมชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนเงินที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้กับเจ้าของนาข้าวที่อ้างว่าถูกเป็ดเข้าไปทำลายข้าวที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวผล แสดงว่าเจ้าของเป็ดยอมรับว่าเป็ดของตนได้ทำให้เกิดความเสียหาย แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานปรากฎชัดเจน จึงไม่สามารถเรียกเงินนั้นคืนได้
กรณีที่เจ้าของนาข้าวยังกลับมาเรียกร้องค่าเสียหายกับคุณตาของเจ้าของเป็ดอีกนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 ได้วางหลักไว้ว่าหากสัตว์เลี้ยงทำให้เกิดความเสียหาย เจ้าของจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควร ดังนั้นหากเจ้าของนาข้าวยังต้องการเรียกร้องความเสียหาย จะต้องมีหลักฐานปรากฎว่าเป็ดได้เข้าไปทำให้เกิดความเสียหายแก่นาข้าวของตนจริง และหากมีหลักฐานนั้นเจ้าของเป็ดอาจไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายหากพิสูจน์ได้ว่าตนได้เลี้ยงเป็ดโดยใช้ความระมัดระวังอันสมควรแล้ว
นอกจากนี้ แม้ว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเกิดความเสียหายแก่ข้าวในนาข้าว แต่หากเจ้าของเป็ดไม่มีเจตนาทำให้เกิดความเสียหายนั้น ก็ไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358
อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน จึงขอแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาตกลงกันในฐานะการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี
2.ประเด็นการหมิ่นประมาท
กรณีหมิ่นประมาทนั้นเกี่ยวข้องกับทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง กล่าวคือ นอกจากผู้เสียหายจะฟ้องเป็นคดีอาญาขอให้ลงโทษผู้กระทำผิดฐานหมิ่นประมาทได้แล้วยังเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งได้ด้วย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 330, 333 ได้วางหลักเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทไว้ว่า ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ในประการที่น่าจะทำผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นมีความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง ซึ่งการพิสูจน์จะต้องไม่ใช่เรื่องส่วนตัวและต้องเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ โดยความผิดฐานนี้เป็นความผิดที่ยอมความกันได้
ในทางแพ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 วางหลักว่า ผู้ใดกล่าวข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงทำให้บุคคลอื่นเสียชื่อเสียงหรือเกียรติคุณ หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่น จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ถ้าผู้นั้นรู้หรือควรรู้ว่าข้อความนั้นไม่เป็นความจริง
การที่เจ้าของนาข้าว ได้กล่าวหาคนดูแลเป็ดกับคุณตา ว่าเป็น “พม่าที่ไหน ท่าทางเหมือนเมายา นั่งเบลอ” นั้น เป็นการที่เจ้าของนาข้าว ได้กล่าวถึงผู้ดูแลเป็ด กับคุณตาซึ่งเป็นบุคคลที่สาม ในทางที่ทำให้ผู้ดูแลเป็ดเสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้ว่าเรื่องที่พูดนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่ แต่หากคำพูดเจ้าของนาข้าวได้รับการพิสูจน์ในชั้นศาลว่าเป็นความจริงอาจได้รับการยกเว้นโทษ
อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงเจ้าของนาข้าวได้อ้างถึงผู้ดูแลเป็ด แม้เจ้าของเป็ดทราบดีว่าผู้ดูแลคือสามีของตน แต่คำพูดของเจ้าของนาข้าวก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่ากล่าวถึงสามีของเจ้าของเป็ด จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทสามีของเจ้าของเป็ด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเจ้าของนาข้าวรู้ว่าผู้ดูแลเป็ดคือสามีของเจ้าของเป็ด
อนึ่ง ในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้านที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ในเรื่องดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นจากความคิดชั่ววูบ และในกรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดความเสียหายรุนแรง อีกทั้งการหมิ่นประมาทเป็นความผิดอันยอมความกันได้ ทั้งสองฝ่ายจึงควรหันหน้าพูดคุยทำความเข้าใจกันจะดีกว่า