ขายที่ดินของผู้เสมือนไร้ความสามารถ
ข้อเท็จจริง
ยายผู้ร้องได้ป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองแตกนอนไม่รู้สึกตัวมาประมาณ 3 ปีแล้ว ยายมีลูกทั้งหมด 3 คน คือแม่ผู้ร้อง น้าและป้า ซึ่งแม่กับป้าจะอยู่ที่ กรุงเทพฯ ส่วนยายจะอยู่กับน้าที่ต่างจังหวัดซึ่งน้าจะเป็นตัวหลักที่ดูแลยายมาตลอดระยะเวลา 3 ปี ยายผู้ร้องมีที่ดินอยู่ 1 แปลงซึ่งยังไม่ได้ยกให้ใครแล้วลูกๆทั้งสามตกลงกันว่าจะขาย (มีคนมาขอซื้อจึงคิดจะขาย) เพราะด้วยที่แปลงนี้ก็อยู่อีกจังหวัด ไม่มีใครจะไปใช้ประโยชน์ใดๆ และจากที่ปรึกษาญาติๆที่ทำงานอยู่ที่ที่ดินเขาแนะนำว่าให้ไปแจ้งศาลเพื่อขอเป็นผู้พิทักษ์เพื่อขายที่ดินแปลงนี้โดยเฉพาะซึ่งลูกๆทุกคนก็ยินยอมและได้ให้หมอที่เป็นเจ้าของไข้ที่ดูแลยายอยู่ออกใบรับรองให้ว่ายายอยู่ในสภาพนอนไม่รู้สึกตัวจริงๆ (หมอเจ้าของไข้ก็ยินดีหากต้องไปให้ปากคำที่ศาล) ก็ดำเนินเรื่องไปจนกระทั้งศาลนัดลูกๆทั้งหมดเพื่อมาให้ปากคำที่ศาล (ตามปกติที่ทราบๆมาคือจะรอ 45 วันแล้วหลังจากนั้นจะต้องลงประกาศ นสพ. อีก 7 วันหากไม่มีคนขัดค้านก็จะประกาศเป็นผู้พิทักษ์) ในระหว่างนี้ทั้งแม่ ป้าและน้าก็ได้ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายกับคนที่จะซื้อที่ดินโดยได้เงินจองมาจำนวนหนึ่ง ทีนี้เรื่องมันมามีปัญหาว่าศาลได้แจ้งว่าตามระเบียบใหม่จะต้องไปติดต่อที่สถานพินิจด้วย ซึ่งพอไปติดต่อยังสถานพินิจกลับกลายเป็นว่าเงินที่จะขายที่นั้นได้ทั้งหมดเท่าไหร่จะต้องเก็บไว้ยังบัญชีของสถานพินิจแล้วเขาจะจ่ายเป็นเดือนๆสำหรับค่าใช้จ่ายที่ดูแลยาย (ก่อนหน้านี้เขามีถามว่าค่าใช้จ่ายของยายต่อเดือนเท่าไหร่)
ประเด็นคำถาม
อยากทราบว่าจริงๆแล้วการขายที่ดินในลักษณะนี้ทำได้หรือไม่ครับ (เงินจากการขายนำมาแบ่งกัน) แล้วสถานพินิจต้องมีบทบาทตามที่ว่าไว้จริงหรือไม่
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 28 วรรคสอง,1574
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 163
การดำเนินการให้คำปรึกษา
ขอทำความเข้าใจก่อนคำว่า ผู้พิทักษ์ กับ ผู้อนุบาล ต่างกัน ผลตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 163 ใช้ในกรณีผู้อนุบาล ผู้ตอบปัญหาขอแปลขอเท็จจริงว่า ยายผู้ร้องที่เส้นเลือดในสมองแตกนอนไม่รู้สึกตัวมาประมาณ 3 ปีแล้ว เป็นคนวิกลจริตและศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ อยู่ในบังคับต้องมีผู้อนุบาลเข้ามาดูแล ซึ่งจะยึดโยงกับอำนาจของศาลตามมาตราดังกล่าว
กรณีของผู้ร้องนั้น แม้ตามป.พ.พ.มาตรา 28 วรรคหนึ่ง จะกำหนดให้บุคคลวิกลจริต อาจถูกร้องต่อศาลให้เป็นคนไร้ความสามารถ ซึ่งบุคคลวิจริตนั้นไม่ได้หมายความถึงเฉพาะคนบ้าตามที่เข้าใจเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงคนที่ขาดความรำลึก ไม่รู้สึกตัวด้วย เมื่อยายผู้ร้องป่วยเส้นเลือดในสมองแตกนอนไม่รู้สึกตัวมาประมาณ 3 ปีแล้ว ย่อมตกเป็นคนวิกลจริต ที่บุตรจะร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถได้ตามป.พ.พ.มาตรา 28 วรรคหนึ่ง
เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามมาตรา 28 วรรคสอง วางหลักให้คนไร้ความสามรถต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล และอำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาลให้เป็นไปตามบรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ดังนั้น การขายทรัพย์สินของผู้ไร้ความสามารถจึงต้องบังคับตามลักษณะ 2 หมวด 2 มาตรา 1574 (1) ประกอบมาตรา 28 วรรคสองวางหลักให้ นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ไร้ความสามารถดังต่อไปนี้ผู้อนุบาลจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต (1) ขาย....กรณีขั้นตอนของผู้ร้องนั้นน่าจะถึงขั้นที่ขออนุญาตขายที่ดินของยายผู้ร้องแล้ว
ประเด็นหลักน่าจะอยู่ที่ว่า เมื่อขายที่ดินแล้วเหตุใดไม่ได้เงินเป็นก้อนทั้งหมด และเหตุใดสถานพินิจจึงเข้ามามีอำนาจดูแลเงินส่วนนี้ได้ และเหตุใดบุตรของยายจึงไม่ได้เงินจากการขายที่ดินมาแบ่งกัน
ตอบประเด็นนี้ ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 163 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้อนุบาล ถ้าศาลเห็นสมควรเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและทรัพย์สินของผู้ไร้ความสารถ ศาลจะมีคำสั่งตั้งนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือเจ้าพนักงานอื่นทำหน้าที่กำกับดูแลการใช้อำนาจของผู้อนุบาลเกี่ยวแก่ตัวผู้ไร้ความสารถหรือทรัพย์สินของผู้ไร้ความสารถหรือค่าอุปการะเลี้ยงดู และการรักษาพยาบาลผู้ไร้ความสารถก็ได้แล้วให้เจ้าพนักงานที่ได้รับแต่งตั้ง รายงานให้ศาลทราบ”
เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายที่ดินของมารดาแล้วมาตรา 1574 (1) ประกอบมาตรา 28 วรรคสอง (1) ศาลอาจเห็นว่าเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและทรัพย์สินของผู้ไร้ความสารถตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 163 วรรคสอง ศาลจึงมีคำสั่งตั้งเจ้าหน้าที่สถานพินิจเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของยายผู้ร้อง ดังนั้น เงินที่ได้จากการขายที่ดินของยายผู้ร้อง จึงไม่สามารถนำออกใช้เพื่อการอย่างอื่นได้ การที่บุตรของยายผู้ร้องอยากนำเงินมาแบ่งกันจึงต้องถือว่าเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่จะคุ้มครองสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของยายผู้ร้องเพราะหากนำเงินมาแบ่งกันแล้วก็ไม่อาจมีหลักประกันยืนยันว่ายายผู้ร้องจะได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ในจำนวนเงินที่ขายที่ดินได้ ที่สถานพินิจจ่ายเป็นเดือนๆสำหรับค่าใช้จ่ายในการดูแลยายผู้ร้อง จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยมาตรา 163 วรรคสองที่กฎหมายให้อำนาจไว้แล้ว ส่วนจะขอให้จ่ายเดือนละเท่าไหร่ คงต้องแจ้งความประสงค์และเหตุผลไปยังสถาพินิจเองโดยตรง