การไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์
ข้อเท็จจริง
ในคดียักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ,353 โจทก์ประกอบกิจการโรงรับจำนำยื่นฟ้องผู้จัดการโรงจำนำเป็นจำเลยที่ 1 กับลูกค้าเป็นจำเลยที่ 2 กระทำการทุจริตรับจำนำพระเลี่ยมทองไว้ในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดจริงหลายครั้ง จำเลยที่ 1 ไม่รู้จักจำเลยที่ 2 เป็นการส่วนตัวมาก่อน จำเลยที่ 2 นำพระไปจำนำตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีจำนวนหลายครั้ง โดยจำเลยที่ 2 นำพระที่ตนได้สะสมไว้เข้าไปจำนำ เมื่อมีคนมาขอเช่าพระต่อก็จะมาไถ่พระองค์ดังกล่าวไป ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้เช่าพระทางเว็บไชต์และลงนิตยสารหนังสือพระ
ประเด็นคำถาม
1.อยากทราบว่าในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง คู่ความที่ยังไม่ได้ตกเป็นจำเลย สามารถเข้าร่วมซักค้านพยานโจทก์ได้หรือไม่
2.สามารถยื่นคำแถลงหรือคำร้องเพื่อให้ศาลทราบข้อเท็จจริงบางประการได้หรือไม่
3.ตามข้อเท็จจริงอยากขอคำแนะนำว่า ในการต่อสู้หรือซักค้านไม่อยากให้ศาลชี้ว่ามีมูล นัดแรกศาลรับรู้แต่เอกสารฝ่ายโจทก์ทำถ้าเชื่อโจทก์เพราะพูดเพียงหลายร้อยรายการมันน่าจะมีมูล คู่ต่อสู้ล้วนแต่มีชื่อในสังคม
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 165
การดำเนินการให้คำปรึกษา
ประเด็นที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 165 วรรคสองและวรรคสาม วางหลักว่า จำเลยไม่มีสิทธินำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิที่จำเลยจะมีทนายความเข้ามาช่วยเหลือ และจำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้องโดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือจำเลยจะไม่มาแต่ตั้งทนายความมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้ ดังนั้น ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยย่อมมีสิทธิซักค้านพยานโจทก์ได้
ประเด็นที่ 2 แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 165 วรรคสาม จะบัญญัติว่า ก่อนประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น แต่ตามบทมาตราดังกล่าวก็บัญญัติให้สิทธิจำเลยตั้งทนายเข้าซักค้านพยานโจทก์ ดังนั้น จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำแถลงการณ์ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาไต่สวนว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลได้ด้วย ไม่ถือว่าเป็นการที่จำเลยได้นำพยานเข้าสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง
ประเด็นที่ 3 การรับฟังพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องกับชั้นพิจารณาต่างกัน ชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพียงแค่มีมูลความผิดตามฟ้องหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบฐานความผิดที่ฟ้องโดยไม่มีพิรุธอันเป็นประจักษ์ชัด ก็ฟังได้ว่าคดีมีมูลตามฟ้อง ส่วนข้อเท็จจริงที่ได้ความจะเป็นความจริงหรือไม่เป็นข้อที่ต้องพิสูจน์อีกชั้นหนึ่งในชั้นพิจารณา ดังนั้น หากจำเลยไม่ประสงค์ให้ศาลประทับรับฟ้อง จำเลยต้องพยายามถามค้านหรือยื่นเอกสารประกอบคำถามค้านแสดงให้ศาลเห็นว่าคดีไม่มีมูลเพราะขาดองค์ประกอบความผิด