การจัดการมรดก
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องมีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน จำนวน 4 คน โดยน้องคนที่ 3 และคนที่ 4 เป็นน้องต่างบิดากับผู้ร้องและน้องคนที่ 2 บิดาคนปัจจุบันเป็นบิดาของน้องคนที่ 3 กับคนที่ 4 ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา มารดาได้รับมรดกเป็นที่ดินจากตากับยาย มรดกดังกล่าวแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ตามจำนวนทายาทซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับมารดาของผู้ร้อง มรดกดังกล่าวได้แบ่งแยกโฉนดออกไปแล้วจำนวน 3 ส่วน ที่เหลือ อีก 2 ส่วน ซึ่งเป็นส่วนของมารดาและป้ายังไม่ได้แบ่งแยก โฉนดที่ยังไม่ได้แบ่ง มีชื่อมารดาของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ต่อมาน้องคนที่ 3 ได้ นำที่ดินส่วนของมารดากับป้าไปจำนองไว้กับสหกรณ์ โดยผู้ร้องกับน้องคนที่ 2 ไม่รู้เรื่อง เพิ่งทราบเรื่องดังกล่าวตอนที่มารดาป่วย ปัจจุบันที่ดินแปลงดังกล่าวยังคงติดจำนองอยู่ ต่อมาหลังจากมารดาเสียชีวิตแล้วน้องต่างบิดาทั้งสองคน และบิดาของเขาก็บอกกับผู้ร้องกับน้องชายคนที่ 2 ว่า ผู้ร้องกับน้องชายคนที่ 2 และป้าของผู้ร้องไม่มีสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกต่อศาล และศาลได้มีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก
ประเด็นคำถาม
1. หลังจากที่มารดาของผู้ร้องเสียชีวิตไปแล้วประมาณ 1 ปี เศษ ผู้ร้องได้ขอดูยอดเงินที่น้องคนที่ 3 ผ่อนชำระคืนแก่สหกรณ์ ยังผ่อนคืนไม่ครบ ถามว่าผู้ร้องจะใช้เงินของผู้ร้อง และในฐานะผู้จัดการมรดกยื่นขอปลดจำนองได้หรือไม่
2. ถ้าปลดจำนองได้ผู้ร้องสามารถขายที่ดินดังกล่าวบางส่วนเพื่อหักค่าใช้จ่ายในการปลดจำนองได้หรือไม่
3. เมื่อปลดจำนองแล้วโฉนดจะจัดการโอนอย่างไร ต้องโอนจากชื่อผู้ตายมาเป็นผู้จัดการมรดกก่อนแล้วจึงจัดการแบ่งให้น้องหรือไม่ หรือสามารถจะโอนแบ่งให้แก่ทายาทได้เลย
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701,702,709,724,727,736-739,1357,1361,1599-1603,1629,1629,1635,1711,1716,1719
การดำเนินการให้คำปรึกษา
1 หลังจากที่มารดาของผู้ร้องเสียชีวิตไปแล้วประมาณ 1 ปี เศษ ผู้ร้องได้ขอดูยอดเงินที่น้องคนที่ 3 ผ่อนชำระคืนแก่สหกรณ์ ยังผ่อนคืนไม่ครบ ถามว่าผู้ร้องจะใช้เงินของผู้ร้อง และในฐานะผู้จัดการมรดกยื่นขอปลดจำนองได้หรือไม่
ตอบ ตามข้อเท็จจริงและประเด็นคำถามดังกล่าวข้างต้น เมื่อมารดาของผู้ร้องถึงแก่ความตาย มรดกของมารดาย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานคือบุตรทั้งห้าคน กองมรดกของมารดาได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิด รวมถึงสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของมารดา ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอด ได้แก่ตน ก่อนตายมารดาของผู้ร้องได้นำที่ดินมรดกไปจดทะเบียนจำนองประกันการกู้ยืมเงินที่บุตรคนที่ 3 ได้กู้ยืมเงินจากสหกรณ์ ก็ย่อมทำได้เพราะมารดาของผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวร่วมกับป้าของผู้ร้อง ในกรณีที่มารดาของผู้ร้องได้จำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกัน หนี้ของบุตรคนที่ 3 หากมารดาจะเข้าชำระหนี้เสียเองแทนบุตรคนที่ 3 เพื่อจะปัดป้องมิให้ต้องบังคับจำนอง มารดาของผู้ร้องชอบที่จะได้รับเงินใช้คืนจากบุตรคนที่ 3 ตามจำนวนที่มารดาของผู้ร้องได้ชำระไป ต่อมาในขณะที่หนี้เงินดังกล่าวยังชำระไม่ครบถ้วน มารดาของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จำนองก็ได้ถึงแก่ความตายไปก่อน ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของมารดาตามคำสั่งศาลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก กล่าวคือผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของมารดาของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จำนองที่ดินประกันหนี้ ผู้ร้องในฐานะที่เป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจะไถ่ถอนจำนองก็ได้ เพราะผู้ร้องไม่ได้เป็นตัวลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน หรือเป็นทายาทของลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน ผู้ร้องจะไถ่ถอนจำนองเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าผู้รับจำนองได้บอกกล่าวว่าจะบังคับจำนอง ผู้ร้องต้องไถ่ถอนจำนองภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันรับคำบอกกล่าว หากผู้ร้องประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าว ความประสงค์นั้นแก่น้องคนที่ 3 ผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยัง บรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน ไม่ว่าในทางจำนองหรือประการอื่นว่า จะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น
2 ถ้าปลดจำนองได้ผู้ร้องสามารถขายที่ดินดังกล่าวบางส่วนเพื่อหักค่าใช้จ่ายในการปลดจำนองได้หรือไม่
ตอบ การที่ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้ออกเงินของตนเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้รับจำนองแล้ว ผู้ร้องจะหักหนี้ดังกล่าวจากกองมรดกของมารดานั้น ตามกฎหมายแล้ว กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน กล่าวคือ ผู้ร้องในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกและฐานะทายาทโดยธรรมร่วมกับพี่น้องคนอื่นๆ ไม่จำต้องรับผิดในหนี้ของกองมรดกเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตนจะได้รับ คือ การที่มารดาของผู้ร้องนำทรัพย์สินดังกล่าวไปจำนองประกันหนี้เงินกู้แล้วตายลงในขณะที่หนี้ต้นเงินยังชำระไม่ครบถ้วน หากเจ้าหนี้ผู้รับจำนองได้ฟ้องคดีเพื่อบังคับจำนองแล้วเหลือทรัพย์สินหรือเงินจำนวนเท่าใดผู้ร้องกับทายาทคนอื่นๆ ก็ย่อมจะได้รับไปเพียงเท่านั้น ในกรณีที่เจ้าหนี้บังคับจำนองแล้วไม่เพียงพอกับจำนวนหนี้ ผู้ร้องกับทายาทคนอื่นๆ ก็ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังชำระไม่ครบถ้วน แต่ก่อนที่เจ้าหนี้จะฟ้องบังคับจำนอง ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมเป็นผู้รับโอนทรัพย์มรดกดังกล่าว ย่อมถือว่าเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองด้วย เมื่อเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองย่อมไถ่ถอนจำนองเมื่อใดก็ได้ อนึ่ง ในกรณีที่มารดาของผู้ร้องเป็นผู้จำนองทรัพย์สินแล้วถึงแก่ความตาย ผู้ร้องและทายาทคนอื่นๆ ย่อมเข้าสวมสิทธิแทนมารดาของผู้ร้องในทรัพย์สินดังกล่าว เพราะว่าสิทธิจำนองย่อมติดไปกับทรัพย์สินแม้ผู้จำนองจะถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม เมื่อผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทของมารดาของผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีหน้าที่ทำการอันจำเป็น เพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ดังนั้นผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมจัดการเข้าชำระหนี้แทนลูกหนี้ เพื่อจะปัดป้องมิให้ต้องบังคับจำนอง ผู้ร้องในฐานะตัวแทนของทายาททุกคนย่อมมีสิทธิได้รับ เงินใช้คืนจากบุตรคนที่ 3 ตามจำนวนที่ผู้ร้องได้ชำระไป แต่ในกรณีที่ผู้ร้องจะขายทรัพย์สินอันเป็นทรัพย์มรดกนั้นผู้ร้องต้องได้รับความยินยอมจากทายาทอื่นๆ ทุกคนก่อน ตามหลักเรื่องกรรมสิทธิ์รวม
3 เมื่อปลดจำนองแล้วโฉนดจะจัดการโอนอย่างไร ต้องโอนจากชื่อผู้ตายมาเป็นผู้จัดการมรดกก่อนแล้วจึงจัดการแบ่งให้น้องหรือไม่ หรือสามารถจะโอนแบ่งให้แก่ทายาทได้เลย
ตอบ เมื่อมีคำสั่งศาลตั้งให้ผู้ร้องให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้ร้องมีหน้าที่จัดการแบ่งมรดกให้แก่ทายาท กล่าวคือหน้าที่ผู้จัดการมรดกให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟัง หรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว เมื่อเป็นผู้จัดการมรดกแล้วต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อจากชื่อของผู้ตายให้เป็นชื่อของทายาทที่มีสิทธิรับมรดก ก่อนอื่นต้องโอนเปลี่ยนแปลงชื่อให้เป็นชื่อของผู้จัดการมรดกเสียก่อนเพราะว่าเมื่อเจ้าของที่ดินมีโฉนดถึงแก่ความตายแล้วต้องมีผู้จัดการมรดกของผู้ตายเสียก่อนแล้วผู้จัดการมรดกจึงจะทำการโอนทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามลำดับ