การร้องทุกข์
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องถูกหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ ออกคำสั่งให้พ้นจากราชการ ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท. ) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ต่อมามีการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ได้ประมาณ 1 ปี แล้ว
ประเด็นคำถาม
เนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมถึงคดีส่วนแพ่งและคดีส่วนอาญา ในกรณีที่ผู้ร้องไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเอง ผู้ร้องจะร้องทุกข์ต่อศูนย์นิติศาสตร์ เพื่อให้ช่วยดำเนินดคีได้หรือไม่
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7))(8) , 120 ,121 วรรคสอง , 123 , 124
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 , 96
การดำเนินการให้คำปรึกษา
ตามข้อเท็จจริงและประเด็นคำถามดังกล่าวข้างต้นในกรณีที่ผู้ร้องถูกดำเนินคดีเป็นคดีปกครองซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ต่อมาหากผู้ร้องจะดำเนินคดีเป็นคดีส่วนอาญาหรือส่วนแพ่งต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวนั้น ผู้ร้องก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ โดยการไปร้องทุกข์หรือกล่าวโทษที่พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน ซึ่งคำร้องทุกข์ หมายถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้น ได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ ส่วนคำกล่าวโทษ หมายถึง การที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดี ได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ คำร้องทุกข์นั้นต้องปรากฏชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่างๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับ และชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้ คำร้องทุกข์จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยปากก็ได้ ถ้าเป็นหนังสือต้องมีวันเดือนปีและลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องทุกข์ด้วยปาก ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวน และเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายก็ได้ เมื่อมีหนังสือร้องทุกข์ยื่นต่อเจ้าพนักงานเช่นกล่าวแล้วให้รีบจัดการส่งไปยังพนักงานสอบสวน และจะจดหมายเหตุอะไรไปบ้างเพื่อประโยชน์ของพนักงานสอบสวนก็ได้ เมื่อมีคำร้องทุกข์ด้วยปากให้รีบจัดการให้ผู้เสียหายไปพบกับพนักงานสอบสวนเพื่อจะบันทึกคำร้องทุกข์นั้น ในกรณีเร่งร้อนเจ้าพนักงานนั้นจะจดบันทึกเสียเองก็ได้ แต่แล้วให้รีบส่งไปยังพนักงานสอบสวน และจะจดหมายเหตุอะไรไปบ้างเพื่อประโยชน์ของพนักงานสอบสวนก็ได้ (แม้ว่าความผิดนั้นจะมิได้เกิดขึ้นในเขตของตนก็ตาม) คำร้องทุกข์มีความสำคัญในการวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินคดีในความผิดอันยอมความได้ ในปัญหาอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนและอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ กล่าวคือพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนในความผิดอันยอมความได้ ต้องมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบก่อน ถ้าไม่มีคำร้องทุกข์หรือเป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายพนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจสอบสวนและทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องศาลต้องยกฟ้อง อายุความการร้องทุกข์ กรณีความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ถ้าคำร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ถือว่าไม่มีการร้องทุกข์ในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีก็อาจขาดอายุความได้ สำหรับความผิดอาญาแผ่นดิน ต้องร้องทุกข์หรือกล่าวโทษภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องร้อง ถ้ามีการร้องทุกข์ภายในสามเดือนแล้ว แต่มิได้ฟ้องภายในกำหนดอายุความตาม ป.อ. ม.95 คดีนั้นขาดอายุความเช่นกัน แม้ผู้เสียหายจะเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาเอง ก็ต้องฟ้องภายในอายุความนี้ ส่วนคำถามที่ว่ากรณีที่ผู้ร้องไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเอง ผู้ร้องจะร้องทุกข์ต่อศูนย์นิติศาสตร์ เพื่อให้ช่วยดำเนินคดีนั้น เนื่องจากศูนย์นิติศาสตร์มีวัตถุประสงค์ในการให้คำปรึกษาทางกฎหมายและให้ความช่วยเหลือทางคดีเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความ แต่ในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือนั้น ต้องครบองค์ประกอบตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือกล่าวคือ 1) ผู้ร้องต้องมีฐานะยากจนไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าทนายความ 2) คดีนั้นต้องมีทางดำเนินการต่อไปได้ มิใช่คดีที่ถึงที่สุดไปแล้ว 3) ต้องมิใช่คดีเกี่ยวกับการฟ้องหย่า 4) ผู้ร้องต้องไม่ได้รับความเป็นธรรม 5) ผู้ร้องต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด เป็นต้น ในกรณีของผู้ร้องนั้นยังขาดรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่จะขอความช่วยเหลือกล่าวคือ หากผู้ร้องจะขอความช่วยเหลืออย่างน้อยผู้ร้องต้องเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ร้องได้รับความความเดือดร้อน กล่าวคือ ต้องมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันที่ เวลา บุคคล สถานที่ และเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามลำดับ ประกอบด้วยเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน หรือหากผู้ร้องสะดวกก็สามารถเข้ามาพบทนายความที่ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ได้ ในวันและเวลาราชการ