อำนาจปกครองบุตร
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องอยู่กินกับสามีโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ที่บ้านของสามี มีบุตรด้วยกันจำนวน 1 คน ปัจจุบันอายุ 1 ปี 8 เดือน ผู้ร้องได้พาบุตรมาอาศัยอยู่ที่บ้านยายของผู้ร้อง ต่อมาพอจะถึงวันครบรอบวันเกิดของบุตร สามีและมารดาของสามีได้มารับเด็กโดยบอกกับยายของผู้ร้องว่าจะเอาเด็กไปเลี้ยงวันเกิด และไม่พาเด็กมาส่งที่บ้านยายอีกเลย ผู้ร้องทราบเรื่องและโทรศัพท์ไปหาสามี ตอนแรกสามีของผู้ร้องไม่ยินยอมให้ผู้ร้องพบกับบุตรของผู้ร้อง แต่ต่อมาก็อนุญาตให้ผู้ร้องพบกับบุตรได้ โดยมีข้อตกลงว่าหากจะพาเด็กไปเที่ยวต้องให้อาของเด็กไปด้วยทุกครั้ง ต่อมาผู้ร้องทนไม่ไหวจึงไปรับบุตรของผู้ร้องมาจนถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2557 สามีของผู้ร้องกับมารดาของสามีมารับบุตรของผู้ร้องที่โรงเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ร้อง และไม่พาเด็กมาส่งผู้ร้องอีกเลย ผู้ร้องและสามีต่างคนก็มีคู่ครองคนใหม่แล้ว
ประเด็นคำถาม
1. ผู้มาทำงานที่กรุงเทพมหานคร แล้วผู้ร้องฝากบุตรให้มารดาของผู้ร้องเลี้ยงดู อดีตสามีของผู้ร้องจะฟ้องศาลเพื่อขอนำบุตรไปเลี้ยงเองได้หรือไม่
2. หากผู้ร้องไม่ต้องการให้อดีตสามีของผู้ร้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับผู้ร้องและครอบครัวใหม่และบุตรของผู้ร้อง จะต้องทำอย่างไร ต้องดำเนินการอย่างไร
3. หากอดีตสามีของผู้ร้องเอาบุตรไปเลี้ยงโดยไม่มีเวลาที่จะดูแลเพราะอดีตสามีและย่าของเด็กต่างก็ทำงาน เราจะนำประเด็นนี้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลได้หรือไม่
4. ขณะที่บุตรอยู่กับอดีตสามี บุตรของผู้ร้องก็ไม่มีพัฒนาการ หรืออ้วนขึ้นเลย และบุตรยังมีพฤติกรรมมักจะใช้มือตบศีรษะตนเอง แต่พอบุตรมาอยู่กับผู้ร้องบุตรก็อ้วนขึ้น ไม่ก้าวร้าว และเลิกตบศีรษะตนเอง
5. ถ้าผู้ร้องจะฟ้องศาลให้ชนะคดีโดยไม่ให้อดีตสามีมายุ่งเกี่ยวอีกควรทำอย่างไร
6. อดีตสามีพาเด็กไปโดยไม่ได้บอกกล่าวผู้ร้อง ผู้ร้องจะแจ้งความดำเนินคดีกับอดีตสามีได้หรือไม่
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1546 , 1547 , 1548 , 1549 , 1555 , 1557 , 1566 , 1567 ,1569 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371
การดำเนินการให้คำปรึกษา
1. ผู้มาทำงานที่กรุงเทพมหานคร แล้วผู้ร้องฝากบุตรให้มารดาของผู้ร้องเลี้ยงดู อดีตสามีของผู้ร้องจะฟ้องศาลเพื่อขอนำบุตรไปเลี้ยงเองได้หรือไม่
ตอบ ตามข้อเท็จจริงข้างต้น บุตรที่เกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นเท่านั้น บุตรของผู้ร้องย่อมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องเท่านั้น เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา ต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร บิดาจะจดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็ก ไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวันนับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้ สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทย ให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดา และมารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย อำนาจปกครองจะอยู่กับบิดาหรือมารดา จะมีเพียงกรณีดังต่อไปนี้คือ (1) มารดาหรือบิดาตาย (2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย (3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความ สามารถ (4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน (5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา (6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้ ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิคือ 1 ) กำหนดที่อยู่ของบุตร 2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน 3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป 4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีของผู้ร้องนั้นเมื่อผู้ร้องไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับสามี ผู้ร้องกับสามีย่อมไม่เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย สิทธิของสามีภริยา หรือสิทธิในฐานะบิดาและมารดาย่อมไม่เกิดขึ้น บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของมารดา ย่อมอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของผู้ร้องเท่านั้น ผู้ร้องย่อมมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตร เมื่อผู้ร้องฝากบุตรให้มารดาของผู้ร้องเลี้ยงดูย่อมเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ผู้ร้องจะทำได้ อดีตสามีของผู้ร้องจะฟ้องศาลเพื่อขอนำบุตรไปเลี้ยงเองย่อมไม่สามารถทำได้
2. หากผู้ร้องไม่ต้องการให้อดีตสามีของผู้ร้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับผู้ร้องและครอบครัวใหม่และบุตรของผู้ร้อง จะต้องดำเนินการอย่างไร
ตอบ ตามข้อกฎหมายที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ผู้ร้องในฐานะเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตร มีอำนาจปกครองบุตรแต่ฝ่ายเดียว อดีตสามีของผู้ร้องเป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีมีอำนาจปกครองบุตรของผู้ร้อง ไม่มีอำนาจกำหนดที่อยู่ของบุตร ตามกฎหมายแล้วอดีตสามีของผู้ร้องมีหน้าที่ต้องส่งบุตรคืนผู้ร้อง หากผู้ร้องไม่ต้องการให้อดีตสามีมายุ่งเกี่ยวกับผู้ร้องและบุตรของผู้ร้องก็สามารถใช้สิทธิทางศาลโดยขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามสามีมายุ่งเกี่ยวกับผู้ร้อง และให้สามีพาบุตรมาส่งผู้ร้องก็สามารถทำได้
3. หากอดีตสามีของผู้ร้องเอาบุตรไปเลี้ยงโดยไม่มีเวลาที่จะดูแลเพราะอดีตสามีและย่าของเด็กต่างก็ทำงาน เราจะนำประเด็นนี้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลได้หรือไม่
ตอบ เมื่อผู้ร้องมีอำนาจตามกฎหมายที่จะใช้อำนาจปกครองดูแลบุตรแต่ฝ่ายเดียว อดีตสามีย่อมไม่มีอำนาจจะพาบุตรไปเลี้ยงดูได้ ผู้ร้องก็ควรต้องยกประเด็นในการต่อสู้คดีตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ส่วนกรณีที่ผู้ร้องถามว่าผู้ร้องจะยกประเด็นว่าในกรณีที่อดีตสามีนำบุตรไปเลี้ยงดูแล้ว อดีตสามีไม่มีเวลาที่จะดูแลเพราะอดีตสามีและย่าของเด็กต่างก็ทำงาน จะยกประเด็นนี้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลได้หรือไม่นั้น การที่ที่จะยกประเด็นดังกล่าวนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้ฟ้องเพิกถอนอำนาจปกครองของสามีในกรณีสามีใช้อำนาจปกครองโดยก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุตร แต่ในการฟ้องเพิกถอนอำนาจปกครองนั้น สามีของผู้ร้องต้องมีอำนาจปกครองเสียก่อน ผู้ร้องจึงจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นต่อสู้คดีในศาลได้ แต่ในเรื่องนี้อดีตสามีของผู้ร้องยังไม่มีอำนาจปกครองบุตรของผู้ร้อง ผู้ร้องก็ไม่จำต้องยกประเด็นดังกล่าวนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาล
4. ขณะที่บุตรอยู่กับอดีตสามี บุตรของผู้ร้องก็ไม่มีพัฒนาการ หรืออ้วนขึ้นเลย และบุตรยังมีพฤติกรรมมักจะใช้มือตบศีรษะตนเอง แต่พอบุตรมาอยู่กับผู้ร้องบุตรก็อ้วนขึ้น ไม่ก้าวร้าว และเลิกตบศีรษะตนเอง
ตอบ การที่บุตรของผู้ร้องอาศัยอยู่กับอดีตสามีแล้วบุตรไม่มีพัฒนาการ มีพฤติกรรมไม่ปกติ และก้าวร้าว นั้น ตามที่ได้อธิบายไว้แล้วข้างต้น ผู้ร้องก็สามารถพาบุตรมาอยู่กับผู้ร้องได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย
5. ถ้าผู้ร้องจะฟ้องศาลให้ชนะคดีโดยไม่ให้อดีตสามีมายุ่งเกี่ยวอีกควรทำอย่างไร
ตอบ การฟ้องร้องดำเนินคดีจะแพ้หรือชนะนั้นขึ้นอยู่กับหลายเหตุปัจจัย ที่สำคัญผู้ที่จะใช้สิทธิทางศาลต้องมีสิทธิที่กฎหมายรับรองคุ้มครองไว้แล้ว บุคคลดังกล่าวจึงจะขอให้ศาลพิพากษาบังคับคดีให้เป็นไปตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้ ในการต่อสู้คดีนั้นต้องมีพยานหลักฐานเพื่อนำมาประกอบในการสืบพยานเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องมีสิทธิตามที่ตนกล่าวอ้างจริง หากผู้ฟ้องหรือผู้ถูกฟ้องสามารถสืบพิสูจน์ว่าตนมีสิทธิที่กฎหมายคุ้มครองไว้และตนถูกอีกฝ่ายหนึ่งกระทำการอันฝ่าฝืนกฎหมายเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย หรือกระทบต่อสิทธิที่กฎหมายรับรองคุ้มครอง กฎหมายได้บัญญัติให้มีผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการพิจารณาและพิพากษาตัดสินให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามกรณีดังกล่าวของผู้ร้องนั้น เมื่อผู้ร้องมีสิทธิและอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ผู้ร้องต้องใช้สิทธิทางศาลโดยสืบพิสูจน์ว่าผู้ร้องมีสิทธิตามบทบัญญัติของกฎหมายและอดีตสามีของผู้ร้องได้กระทำการอันเป็นการกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย กฎหมายจึงจะบังคับให้เป็นไปตามสิทธิของผู้ร้อง
6. อดีตสามีพาเด็กไปโดยไม่ได้บอกกล่าวผู้ร้อง ผู้ร้องจะแจ้งความดำเนินคดีกับอดีตสามีได้หรือไม่
ตอบ การที่อดีตสามีของผู้ร้องพาเด็กไปเลี้ยงดูในฐานะบิดาแม้จะไม่เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ถือว่าเป็นบิดาตามความเป็นจริงย่อมไม่ถือว่ากระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากมารดา ผู้ปกครอง การกระทำของอดีตสามีของผู้ร้องย่อมไม่เป็นความผิดอาญาฐานพรากเด็ก แต่อย่างไรก็ตามผู้ร้องในฐานะมารดาของเด็กย่อมมีสิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งให้อดีตสามีของผู้ร้องคืนบุตรให้แก่ผู้ร้องได้