ผู้จัดการมรดกไม่โอนทรัพย์มรดกให้ เพราะมีหนี้ระหว่างทายาท
คุณพ่อของผู้ร้องได้กู้ยืมเงินจากคุณป้าของผู้ร้องไปเป็นจำนวน 180,000 บาท เมื่อหลายปีมาแล้ว ต่อมามีการแบ่งมรดกกัน(ผู้ร้องมิได้ให้ข้อมูลว่าแบ่งมรดกของใคร จึงสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นการแบ่งมรดกของปู่ผู้ร้อง เนื่องจากมีการแบ่งให้กับพี่น้องทั้งหมด 9 คน) มีการตั้งผู้จัดการมรดก และแบ่งมรดกออกเป็น 9 ส่วนตามจำนวนทายาทซึ่งเป็นพี่น้องกัน คุณป้าของผู้ร้องจึงแจ้งแก่ผู้จัดการมรดกว่าคุณพ่อของผู้ร้องติดหนี้คุณป้า ผู้จัดการมรดกจึงโอนมรดกในส่วนที่คุณพ่อของผู้ร้องจะต้องได้ให้กับคุณป้าไปโดยที่คุณพ่อของผู้ร้องไม่ทราบและไม่ได้ยินยอมด้วยในการจัดการทรัพย์มรดกเช่นว่านี้ ปัจจุบันคุณพ่อของผู้ร้องได้เสียชีวิตลงแล้ว และคุณป้าได้โอนที่นาแปลงนั้นให้กับบุตรของคุณป้า
ประเด็นคำถาม
- ผู้ร้องสามารถเรียกที่นาในส่วนที่คุณพ่อผู้ร้องมีสิทธิจะได้ตามกฎหมายคืนจากคุณป้าได้หรือไม่
ข้อกฎหมาย
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 , 1603 , 1646 , 1604 , 1620 , 1629 , 1716 , 1719 , 1720 ประกอบมาตรา 812 , 1727 , 1733 , 1734 , 1754
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ,95 (3) , 96 , 354 , 356
การให้คำปรึกษา
เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ดังนั้น เมื่อคุณปู่ของผู้ร้องถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ มรดกของคุณปู่จึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ซึ่งมีทั้งหมด 6 ลำดับชั้น เรียงจากชั้นที่สนิทกับเจ้ามรดกมากที่สุด คือ 1)ผู้สืบสันดาน 2) บิดามารดา 3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4) พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน 5) ปู่ ย่า ตา ยาย 6) ลุง ป้า น้า อา หากเจ้ามรดกมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ภรรยาก็จะเป็นทายาทโดยธรรมลำดับเดียวกับผู้สืบสันดาน
จากกรณีที่สอบถามมามีข้อเท็จจริงว่ามีผู้ได้รับมรดกทั้งหมดซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของเจ้ามรดกจำนวน 9 คน และไม่ปรากฎว่าบิดามารดาของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นทายาทโดยธรรมทุกคนจึงมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกเป็นส่วนเท่าๆกัน เมื่อมีการตั้งผู้จัดการมรดกเรียบร้อยแล้ว หน้าที่ของผู้จัดการมรดกคือ มีสิทธิและหน้าที่เพื่อจัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท หากผู้จัดการมรดกทำผิดหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทายาท กฎหมายกำหนดให้นำบทบัญญัติเรื่องตัวการตัวแทนมาบังคับใช้โดยอนุโลม ดังนั้น การที่ผู้จัดการมรดกโอนที่นาซึ่งเป็นส่วนของบิดาผู้ร้องไปให้กับคุณป้าของผู้ร้องเนื่องจากคุณป้าของผู้ร้องแจ้งว่าบิดาของผู้ร้องเป็นหนี้เงินกู้ยืม ซึ่งหนี้ระหว่างทายาทไม่ใช่หนี้ของกองมรดกผู้จัดการไม่มีอำนาจในการจัดการแทน เป็นเรื่องที่เจ้าหนี้และลูกหนี้จะไปว่ากล่าวกันเอง เมื่อมีการโอนที่นาซึ่งเป็นส่วนของบิดาผู้ร้องโดยไม่มีอำนาจและเกิดความเสียหายผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดชอบ โดยนำมาตรา 812 ในเรื่องตัวการตัวแทนมาใช้โดยอนุโลม
เมื่อทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งทราบถึงการกระทำที่ผู้จัดการมรดกทำให้เกิดความเสียหายขึ้น สามารถร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้แต่ต้องร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกก่อนที่การปันทรัพย์มรดกจะเสร็จสิ้นลง เมื่อไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีการร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกจนการแบ่งปันทรัพย์มรดกได้เสร็จสิ้นไปแล้ว จึงไม่สามารถร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ เนื่องจากหน้าที่ของผู้จัดการมรดกได้สิ้นสุดลงในวันที่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทแล้วเสร็จ
หากผู้ร้องต้องการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจะต้องฟ้องภายในอายุความ มิฉะนั้นคดีจะขาดอายุความ ไม่สามารถฟ้องคดีได้ และผู้จัดการมรดกอาจยกอายุความขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ ซึ่งอายุความในเรื่องดังกล่าวกฎหมายกำหนดเอาไว้ 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคท้าย
ส่วนความผิดทางอาญาของผู้จัดการมรดกนั้นเป็นการกระทำความผิดฐานยักยอก เนื่องจากผู้จัดการมรดกได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทและได้เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของบุคคลที่สาม(คุณป้าของผู้ร้อง) โดยทุจริต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท แต่เนื่องจากการกระทำความผิดฐานยักยอกนั้นผู้กระทำผิดเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนโดยทั่วไปแต่กลับกระทำผิดจึงมีโทษจำคุกสูงขึ้นคือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนคุณป้าของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับทรัพย์ที่ได้มาจากการยักยอกของผู้จัดการมรดก มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 ประกอบมาตรา 354 ซึ่งเคยมีแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่าผู้ที่รับทรัพย์มาจากการยักยอกเป็นผู้สนับสนุน ตามฎีกาที่ 987/2554 และ ฎีกาที่532/2553
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้นมีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากความผิดในฐานนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายจะต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับจากวันที่รู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีจะขาดอายุความ ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้
อย่างไรก็ตาม กรณีเป็นความผิดอันยอมความได้หากผู้เสียหายฟ้องคดีด้วยตนเองภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องการกระทำความผิด และ รู้ตัวผู้กระทำความผิด แม้ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ก็สามารถดำเนินคดีได้เพราะกรณีดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นเจตนาโดยชัดแจ้งว่าผู้เสียหายประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจนถึงที่สุดนั่นเอง