ขอบอำนาจของทนายความ
นาย ก. แต่งตั้งนาย ข. เป็นทนายความให้ว่าความในคดีแพ่ง โดยในใบแต่งทนายความมีข้อความระบุแต่เพียงว่า “แต่งตั้งนาย ข. ให้ว่าความในคดีแพ่ง จนจบสิ้น” ต่อมาระหว่างการพิจารณาคดี นาย ข. ได้ลงชื่อยอมรับต่อศาลและคู่ความว่า นาย ก. ได้กระทำความผิดจริงและยอมชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดตามที่คู่ความฟ้อง โดยในวันดังกล่าว นาย ก. ไม่ได้ไปศาล จึงไม่ทราบเรื่องและไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย
ประเด็นคำถาม
- นาย ข. ซึ่งเป็นทนายความสามารถกระทำการดังกล่าวได้หรือไม่
การให้คำปรึกษา
การพิจารณาถึงขอบเขตอำนาจของทนายความ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 62 กำหนดว่า ทนายความซึ่งคู่ความได้ตั้งแต่งนั้นมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แทนคู่ความได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่ความนั้น แต่ถ้ากระบวนพิจารณาใดเป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ ฯลฯ ทนายความไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณานี้ได้ โดยมิได้รับมอบอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง ขอบเขตอำนาจของทนายความจะระบุไว้ในใบแต่งทนายสำหรับคดีเรื่องนั้น หรือทำเป็นใบมอบอำนาจต่างหากในภายหลังใบเดียวหรือหลายใบก็ได้ ดังนั้น การที่ นาย ก. แต่งตั้งนาย ข. ให้เป็นทนายความโดยระบุให้มีอำนาจว่า “แต่งตั้งนาย ข. ให้ว่าความในคดีแพ่ง จนจบสิ้น” ซึ่งไม่รวมถึงการดำเนินการเป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ ดังนั้น การที่ นาย ข. ลงชื่อยอมรับต่อศาลและคู่ความว่า นาย ก. ได้กระทำความผิดจริงและยอมชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดตามที่คู่ความฟ้อง อันเป็นการยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง โดยที่นาย ก. คู่ความไม่ได้ให้ความยินยอมด้วย และไม่ปรากฏว่ามีการทำใบมอบอำนาจต่างหากในภายหลัง จึงเป็นการดำเนินการแทนนาย ก. คู่ความโดยไม่มีอำนาจ การยอมรับดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันนาย ก. ตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การที่นาย ข. ทนายความดำเนินการแทนนาย ก. คู่ความโดยไม่มีอำนาจ หากศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันคู่ความตามป.วิ.แพ่ง มาตรา 145 และไม่เป็นเหตุที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยอ้างว่าทนายความกระทำการนอกเหนือขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน จึงเป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ทนายความของตนอีกเรื่องหนึ่ง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7626/2541)
ข้อกฎหมาย
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62, 145