ผู้มีสิทธิ์ในงานที่สร้างสรรค์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์
ข้อเท็จจริง
สมาคมด้านวิชาการแห่งหนึ่งได้ทำการรวบรวมบทความจากงานประชุมวิชาการ และได้นำไปส่งสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยเพื่อจัดพิมพ์ ปัจจุบันหนังสือได้มีการจัดพิมพ์ออกมาวางขายตามร้านหนังสือแล้ว โดยหนังสือเล่มดังกล่าวมีบทความของผู้ร้องรวมอยู่ในนั้นด้วย
ในกระบวนการจัดพิมพ์ สมาคมได้นำบทความของผู้ร้องที่อยู่ในเอกสารประกอบการประชุมไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นโดยไม่ได้แจ้งผู้ร้องก่อนซึ่งผู้ร้องทราบเรื่องนี้จากการเข้าร่วมประชุมของสมาคมในภายหลัง ต่อมาสมาคมได้แจ้งผู้ร้องให้แก้ไขบทความตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิโดยมีกำหนดส่งวันสุดท้ายวันที่ 31 มกราคม ผู้ร้องไม่สามารถแก้ไขส่งได้ทันตามที่สมาคมกำหนด ผู้ร้องจึงได้แจ้งแก่สมาคม และสมาคมอนุญาตให้เลื่อนส่งบทความที่แก้ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ สมาคมกลับแจ้งว่าหากผู้ร้องไม่ส่งบทความที่แก้ไขภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ จะถือว่าผู้ร้องไม่แก้ไขบทความตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ร้องจึงส่งบทความที่แก้ไปให้สมาคมในวันที่ 16 กุมภาพันธ์
ปัจจุบันเมื่อหนังสือวางขาย ผู้ร้องพบว่าบทความของผู้ร้องในหนังสือเป็นบทความที่อยู่ในเอกสารประกอบการประชุมของสมาคม ไม่ใช่บทความที่ผู้ร้องได้ทำการแก้ไขแล้ว ผู้ร้องติดต่อไปยังสมาคม และสำนักพิมพ์ พบว่าต้นฉบับที่สมาคมส่งให้สำนักพิมพ์คือบทความที่อยู่ในเอกสารประกอบการประชุมของสมาคม โดยอ้างว่าผู้ร้องไม่ส่งบทความภายในวันที่ 31 มกราคม จึงต้องส่งบทความที่อยู่ในเอกสารประกอบการประชุมของสมาคมไปแทนบทความที่ผู้ร้องแก้
ประเด็นคำถาม
1. ใครเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในบทความที่อยู่ในเอกสารประกอบการประชุมของสมาคม
2. ใครเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในบทความที่ผู้ร้องแก้ไขซึ่งยังไม่ได้ถูกเผยแพ่รออกไป
3. ใครเป็นผู้มีลิขสิทธ์ในบทความที่อยู่ในหนังสือที่ตีพิมพ์ออกวางจำหน่ายแล้ว
4. ถ้าหากผู้ร้องไม่ได้แก้ไขบทความส่งไปให้สมาคม สมาคมจะมีสิทธิ์นำบทความที่อยู่ในเอกสารประกอบการประชุมของสมาคม ไปตีพิมพ์ลงในหนังสือได้หรือไม่
5. การนำบทความที่อยู่ในเอกสารประกอบการประชุมของสมาคมไปจัดพิมพ์เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา จริยธรรมวิจัย หรือไม่อย่างไร
ข้อกฎหมาย
- พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27
การให้คำปรึกษา
ใครเป็นผู้มีลิขสิทธิ์
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 8 กำหนดให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น เมื่อผู้ร้องเป็นผู้จัดทำบทความนั้นขึ้นผู้ร้องย่อมเป็นผู้มีสิทธิ์ในงานที่ตนสร้าง โดยงานอันมีลิขสิทธ์ที่กฎหมายคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 6 กำหนดว่า ได้แก่งานสร้างสรรค์ประเภท วรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียง แพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ไม่ว่า งานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด ของผู้สร้างสรรค์ ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธี หรือ รูปแบบอย่างใด อีกทั้ง มาตรา 4 ให้ความหมายของงานวรรณกรรม ว่ามีความหมายคือ งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน เป็นต้น ดังนั้นบทความที่ผู้ร้องจัดทำขึ้นด้วยตนเองนั้นจึงเป็นงานวรรณกรรมที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ผู้ร้องย่อมเป็นผู้มีลิขสิทธ์ในบทความดังกล่าว
การกระทำของสมาคมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ร้องหรือไม่
โดยหลักเมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในผลงานของผู้ร้องตามมาตรา 15 กำหนดว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวดังต่อไปนี้ (1) การทำซ้ำ หรือดัดแปลง (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน (3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึก (4) ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น (๕) อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม (๑) (๒) หรือ (๓) โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใด หรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้ การที่สมาคมนำบทความของผู้ร้องไปพิมพ์เผยแพร่ และจัดพิมพ์ออกขายตามร้านหนังสือนั้น หากกระทำไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้อง ย่อมเป็นกรณีที่สมาคมละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ร้องตามมาตรา 27 อันกำหนดว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ถ้าหากผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ให้ความยินยอมโดยอนุญาตให้สมาคมมีสิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้ว สมาคมย่อมมีสิทธที่จะนำบทความดังกล่าวส่งไปให้สำนักพิมพ์ของมหาวิทยลัยเพื่อจัดพิมพ์และออกวางจำหน่ายได้ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ร้องแต่อย่างใด
กล่าวโดยสรุป ผู้ร้องเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในบทความที่ผู้ร้องได้จัดทำขึ้น ผู้ร้องมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในบทความซึ่งเป็นผลงานของผู้ร้อง หากมีผู้อื่นมากระทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะย่อมเป็นการกระทำอันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ร้อง เว้นแต่ถ้าหากผู้ร้องได้มีการอนุญาต หรือมีข้อตกลงให้สมาคมสามารถนำบทความของผู้ร้องไปทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ สมาคมก็มีสิทธินำบทความของผู้ร้องไปกระทำการตามที่ตกลงกันไว้ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ร้อง