ละเมิดลิขสิทธิ์
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องเป็นผู้วาดสติ๊กเกอร์ไลน์ชุดหนึ่งที่ได้นำออกขายแล้ว ต่อมาปรากฏว่ามีผู้นำแบบสติ๊กเกอร์ดังกล่าวไปสกรีนเป็นเสื้อยืดเพื่อจำหน่ายอยู่ที่ห้างสรรพสินค้า
ประเด็นคำถาม
การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ หากการดังกล่าวเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ร้องจะมีสิทธิดำเนินการอย่างไรบ้าง
ข้อกฎหมาย
- พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, มาตรา 6, มาตรา 8 และมาตรา 27
การให้คำปรึกษา
จากข้อเท็จจริงข้างต้น สติ๊กเกอร์ไลน์ชุดที่ผู้ร้องได้วาดขึ้นนั้น ย่อมมีลักษณะเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น แสง สี หรือสิ่งอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่าง งานดังกล่าวจึงย่อมมีลักษณะเป็นงานศิลปกรรม ประเภทจิตรกรรม (มาตรา 4) อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย (มาตรา 6) เมื่อผู้ร้องเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าวขึ้นด้วยตนเองโดยการวาด ผู้ร้องจึงย่อมเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว (มาตรา 8) โดยผู้ร้องย่อมมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะทำซ้ำหรือดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าว ตลอดจนให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น และอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิต่าง ๆ ดังกล่าวมาข้างต้นนั้น
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อตกลงระหว่างผู้ร้องและ LINE Corporation (The LINE Creators Market Terms and Conditions of Use) ก็ปรากฏว่าผู้ร้องในฐานะผู้สร้างสรรค์ยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสติ๊กเกอร์ดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากผู้ร้องเพียงแต่อนุญาตให้ LINE Corporation มีสิทธิกระทำการใด ๆ ต่อสติ๊กเกอร์ดังกล่าวตามที่ปรากฏในข้อ 8.6 - 8.9 ของข้อตกลงเท่านั้น แต่มิได้มีการโอนลิขสิทธิ์ในงานข้างต้นให้เป็นของ LINE Corporation แต่อย่างใด ส่วนผู้ใช้รายอื่น ๆ ของแอพพลิเคชั่นไลน์ ก็ย่อมมีแต่เพียงสิทธิที่จะใช้สติ๊กเกอร์ดังกล่าวภายในขอบเขตการให้บริการของแอพพลิเคชั่นไลน์เท่านั้น
ดังนั้น เมื่อปรากฏว่ามีบุคคลนำแบบสติ๊กเกอร์ดังกล่าวไปสกรีนเป็นเสื้อยืดเพื่อผลิตจำหน่าย โดยมิได้ดำเนินการขออนุญาตใด ๆ จากผู้ร้อง การกระทำดังกล่าวย่อมมีลักษณะเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ร้อง (มาตรา 37) ผู้ร้องในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิดำเนินการทั้งในทางแพ่งและทางอาญา กล่าวคือ
1.) ฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายจากบุคคลดังกล่าวเป็นคดีแพ่งต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ทั้งนี้ ภายในกำหนดอายุความ 3 ปีนับแต่วันที่ผู้ร้องได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด และภายใน 5 ปีนับแต่วันที่การละเมิดลิขสิทธิ์นั้นได้กระทำขึ้น (มาตรา 63)
2.) ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจ เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดต่อไป (มาตรา 69)
อย่างไรก็ดี หากผู้ร้องไม่ประสงค์จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากของขั้นตอนทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น หรือไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดจนถึงที่สุด ผู้ร้องอาจเลือกดำเนินการโดยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้ก่อน และขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกบุคคลดังกล่าวมาเจรจาเพื่อชดใช้ค่าเสียหายและลงบันทึกประจำวันกันไว้เป็นหลักฐาน หากสามารถตกลงกันได้เป็นที่เรียบร้อย ผู้ร้องจึงค่อยถอนคำร้องทุกข์ในภายหลัง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมากกว่า