แฟนเก่ายักยอกทรัพย์
ข้อเท็จจริง
แฟนเก่าซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสของข้าพเจ้า นำรถยนต์ที่ข้าพเจ้าซื้อมาภายหลังจากที่ได้เลิกคบหากันแล้วไปใช้แต่ไม่ยอมนำกลับมาคืน เมื่อข้าพเจ้าทวงถามก็นำรถยนต์ดังกล่าวไปซ่อนแล้วย้ายที่อยู่ใหม่เสีย ทั้งนี้ ข้าพเจ้าเคยไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว แต่พนักงานสอบสวนปฏิเสธไม่ยอมรับแจ้งความโดยอ้างว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นสินสมรส กรณีจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์
ประเด็นคำถาม
ข้าพเจ้าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
ข้อกฎหมาย
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
การให้คำปรึกษา
ระบบทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาที่มีการแบ่งทรัพย์สินออกเป็นสินส่วนตัวและสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 นั้น จะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ได้จดทะเบียนสมรสกันตามมาตรา 1457 แล้วเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าท่าน (ผู้ร้อง) และแฟนเก่า (คู่กรณี) ไม่เคยจดทะเบียนสมรสกัน ผู้ร้องและคู่กรณีจึงมิใช่สามีภริยาตามกฎหมาย ดังนั้น ทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้ร้องซื้อหามาโดยลำพัง แม้ในระหว่างที่คบหากับคู่กรณีอยู่ ก็ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว มิใช่สินสมรสระหว่างผู้ร้องและคู่กรณีดังที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้าง แต่หากปรากฏว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและคู่กรณีได้ร่วมกันซื้อหามา เช่น โดยการร่วมกันออกเงินเป็นค่าซื้อทรัพย์สินดังกล่าว ทรัพย์สินเช่นว่านั้นก็ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ดี ไม่ว่ารถยนต์อันเป็นทรัพย์สินที่พิพาทดังกล่าวจะเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างผู้ร้องและคู่กรณีหรือไม่ หากปรากฏว่าคู่กรณีได้นำรถยนต์ดังกล่าวไปใช้โดยความยินยอมของผู้ร้อง แต่ไม่ยอมนำกลับมาคืนแก่ผู้ร้องเมื่อผู้ร้องทวงถาม ทั้งยังได้นำรถยนต์ดังกล่าวไปซ่อน การกระทำของคู่กรณีย่อมมีลักษณะเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แล้วเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานยักยอก ดังที่มาตรา 352 แห่งประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่า “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ดังนี้ การที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้างว่ารถยนต์พิพาทเป็นสินสมรส กรณีจึงมิเป็นความผิดฐานยักยอกนั้นจึงไม่ถูกต้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิตามกฎหมายในอันที่จะแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับคู่กรณีในความผิดอาญาฐานยักยอกได้ หากพนักงานสอบสวนปฏิเสธไม่ยอมรับแจ้งความ การกระทำดังกล่าวของพนักงานสอบสวนก็อาจเป็นความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้
อนึ่ง เมื่อผู้ร้องและคู่กรณีมิใช่สามีภริยากันตามความหมายของกฎหมาย การกระทำข้างต้นของคู่กรณีจึงไม่อาจได้รับการยกเว้นโทษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 ด้วย เนื่องจากบทยกเว้นโทษดังกล่าวบัญญัติไว้เฉพาะสำหรับกรณีที่เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
นอกจากการดำเนินคดีกับคู่กรณีในทางอาญาแล้ว การที่คู่กรณีได้นำรถยนต์อันเป็นทรัพย์สินของผู้ร้องไปใช้โดยไม่ยอมนำกลับมาคืนแก่ผู้ร้องเมื่อได้ทวงถามดังที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมมีลักษณะเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สินของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ร้องย่อมมีสิทธิเรียกให้คู่กรณีใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องโดยการคืนรถยนต์ดังกล่าวแก่ผู้ร้อง พร้อมทั้งค่าเสียหายเป็นค่าเสื่อมราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ดังกล่าวตลอดเวลาที่คู่กรณีนำรถยนต์นั้นไปใช้ แต่หากไม่สามารถคืนได้ไม่ว่าโดยประการใด ๆ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิเรียกให้คู่กรณีใช้ราคารถยนต์ดังกล่าวแทนการคืนตัวรถได้ ทั้งนี้ โดยการบอกกล่าวทวงถามแก่คู่กรณีด้วยตนเอง หรือโดยการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจ
อย่างไรก็ดี หากคู่กรณีไม่ยินยอมคืนรถยนต์ดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ตลอดจนไม่ยินยอมชดใช้ราคาหรือค่าเสียหายตามที่ผู้ร้องได้เรียกร้อง และผู้ร้องไม่ประสงค์จะฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล ผู้ร้องอาจขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกคู่กรณีมาทำความตกลงประนีประนอมยอมความเป็นลายลักษณ์อักษรกับผู้ร้องที่สถานีตำรวจ โดยตกลงกันว่าหากคู่กรณียินยอมคืนรถยนต์หรือชดใช้เงินตามที่ผู้ร้องเรียกร้อง ผู้ร้องจะถอนคำร้องทุกข์และยุติการดำเนินคดีอาญาต่อคู่กรณีดังกล่าว เนื่องจากความผิดฐานยักยอกเป็นความผิดต่อส่วนตัวซึ่งสามารถยอมความได้ตามกฎหมาย แต่หากคู่กรณีไม่ยินยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องเช่นว่านั้นหรือปฏิบัติตามแต่ไม่ถูกต้องครบถ้วน ผู้ร้องก็จะดำเนินคดีอาญากับคู่กรณีต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดต่อไป