สร้างสระว่ายน้ำชิดกำแพงบ้านได้หรือไม่
ข้อเท็จจริง
เพื่อนบ้านของผู้ร้อง (“คู่กรณี”) สร้างสระว่ายน้ำในบริเวณที่เกือบติดกับกำแพงบ้านของผู้ร้อง และวางกระถางต้นไม้เป็นแนวยาวบนถนนของหมู่บ้านเป็นเหตุให้ผู้ร้องเข้าออกบ้านของตนได้ลำบาก
ประเด็นคำถาม
- ผู้ร้องสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อนบ้านดังกล่าวได้หรือไม่
ข้อกฎหมาย
- พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
- กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 386
การให้คำปรึกษา
ประเด็นที่หนึ่ง การก่อสร้างสระว่ายน้ำของคู่กรณีตามข้อเท็จจริงนั้นอาจมีลักษณะเป็นการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ในหมวดว่าด้วยที่ว่างภายนอกอาคาร และหากปรากฏว่าการก่อสร้างหรือดัดแปลงเช่นว่านั้นดำเนินไปโดยมิได้มีการขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือดำเนินการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ผู้กระทำการเช่นว่านั้นย่อมต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ในการนี้ ผู้ร้องในฐานะเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับอาคารที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร มาตรา 73 มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาต่อคู่กรณี หรือฟ้องร้องคู่กรณีเป็นคดีอาญาต่อศาลที่มีเขตอำนาจด้วยตนเองได้
อย่างไรก็ดี หากผู้ร้องประสงค์จะให้มีการดำเนินการเพื่อให้รื้อถอนสระว่ายน้ำดังกล่าว ผู้ร้องจะต้องร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตที่ผู้ร้องอาศัยอยู่ กล่าวคือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เจ้าพนักงานดังกล่าวพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร มาตรา 41 หรือมาตรา 42 หรือดำเนินการตามมาตรา 43 แล้วแต่กรณี โดยผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือฟ้องร้องเป็นคดีอาญาต่อศาลด้วยตนเองได้ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวมีลักษณะเป็นมาตรการในทางปกครอง มิใช่มาตรการทางอาญา
ประเด็นที่สอง การที่คู่กรณีได้นำกระถางต้นไม้มาวางเป็นแนวยาวบนถนนของหมู่บ้านจนเป็นเหตุให้ผู้ร้องเข้าออกบ้านของตนไม่สะดวกนั้น ย่อมมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิของตนอันเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 387-388/2550) ผู้ร้องย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้คู่กรณีเลิกกระทำการดังกล่าว หรือฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้
นอกจากนี้ การกระทำเดียวกันของคู่กรณียังมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 386 กล่าวคือ เป็นการปลูกปักหรือวางสิ่งของเกะกะไว้ในทางสาธารณโดยไม่ได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 721/2489) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
ดังนั้น นอกจากผู้ร้องจะพิจารณาใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ผู้ร้องยังสามารถดำเนินการแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับคู่กรณีดังกล่าวได้ในอีกทางหนึ่งด้วย