กัญชากับการแพทย์ในปัจจุบัน
ประเด็นคำถาม
การใช้กัญชาในทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ข้อกฎหมาย
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2562)
การให้คำปรึกษา
แต่เดิมตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กัญชาถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (มาตรา 7 (5)) ที่ห้ามมิให้ผู้ใดเสพหรือนำไปใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยหรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยมีการกำหนดโทษทางอาญาสำหรับทั้งผู้เสพและผู้ครอบครองกัญชาดังกล่าวไว้
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2562) ในราชกิจจานุเบกษา โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีผลใช้บังคับแล้วนับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 (มาตรา 2) และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการสาระสำคัญเกี่ยวกับการครอบครองและการเสพกัญชา ตลอดจนการนำไปใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยหรือเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ ดังนี้
1) การมีกัญชาไว้ในครอบครองไม่เกินปริมาณที่จำเป็นสำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 26/4 (1) ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562)
2) การเสพกัญชาเพื่อการรักษาโรคสามารถกระทำได้ หากเป็นการเสพตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่ได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้ ตามมาตรา 58 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562)
3) การนำติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรไม่เกินปริมาณที่จำเป็นสำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา ให้กระทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต กล่าวคือ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ทั้งนี้ ตามมาตรา 26/2 (3) ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562)