อายุความสัญญากู้ยืมเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนคืนเป็นงวด ๆ
ข้อเท็จจริง
สัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 6 มิถุนายน 2553 มีข้อกำหนดการผ่อนชำระเป็นระยะเวลา 6 ปี โดยมีระยะเวลาปลอดเงินต้น 24 เดือน อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3.0 ต่อปี กำหนดชำระคืนดังนี้
ปีที่ 1 - 2 ชำระเฉพาะดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น
ปีที่ 3 เป็นต้นไป ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 20,000 บาท 72 เดือน นับตั้งแต่เดือนที่ผู้กู้ได้เบิกเงินกู้เป็นต้นไป หากผู้กู้ผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 10 ต่อปี
ทั้งนี้ ผู้กู้เบิกเงินกู้ทั้งหมดตามสัญญากู้ครั้งเดียวในวันที่ 8 มิถุนายน 2553 โดยผ่อนชำระแล้ว 6 งวด ดังนี้
งวดแรก 30 มิถุนายน 2553
งวดที่สอง 30 กรกฎาคม 2553
งวดที่สาม 31 สิงหาคม 2553
งวดที่สี่ 30 กันยายน 2553
งวดที่ห้า 30 ตุลาคม 2553
งวดที่หก 30 พฤศจิกายน 2553
ผู้ร้องมีการชำระหนี้อีกครั้งในวันที่ 11 ตุลาคม 2554 เป็นเงินจำนวนหนึ่ง และผู้กู้ก็ไม่ได้ชำระหนี้อีกเลยจนกระทั่งปัจจุบัน
ก่อนฟ้องผู้ให้กู้ได้ติดตามทวงถามให้ผู้กู้ชำระหนี้หลายครั้ง แต่ผู้กู้เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ผู้ให้กู้มีหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาถึงผู้กู้ทราบหนึ่งเดือนก่อนฟ้องคดี หลังจากนั้นผู้ให้กู้ฟ้องผู้กู้ฐาน "ผิดสัญญากู้ยืมเงิน เรียกให้ชำระหนี้" เป็นคดีต่อศาลแพ่ง วันที่ 27 สิงหาคม 2562 โดยให้ผู้กู้ชำระเงิรกู้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ และยังเรียกให้ชำระดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 10 ต่อปีของต้นเงินกู้นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
ภายหลังฟ้องคดี จำเลย(ผู้กู้) ยื่นคำให้การ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 โดยให้การว่าคำฟ้องของโจทก์ (ผู้ให้กู้) ขาดอายุความ กล่าวคือ จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย วันที่ 11 ตุลาคม 2554 อายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ครบกำหนด วันที่ 31 ตุลาคม 2559 แต่โจทก์ฟ้องวันที่ 27 สิงหาคม 2562 คำฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ศาลยกฟ้อง
ประเด็นคำถาม
- ฟ้องคดีของโจทก์ ขาดอายุความตามที่จำเลยอ้างใช่หรือไม่
- เนื่องจากสัญญากู้เงินกำหนดให้ผ่อนชำระคืนเงินเป็นงวดๆ งวดใดที่จำเลยไม่ชำระเงินงวดนั้นตามสัญญาเงิน และโจทก์มีสิทธิทวงถามแต่ไม่ได้ใช่้สิทธิจนกระทั่งสิทธิที่จะขอรับเงินงวดนั้น เกิน 5 ปี
เฉพาะเงินงวดนั้นใช่หรือไม่ที่ขาดอายุความ ส่วนเงินงวดอื่น ๆ ที่ยังไม่เกินกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่โจทก์มีสิทธิทวงถาม ยังไม่ขาดอายุความใช่หรือไม่ โจทก์ยังมีสิทธิที่จะเรียกร้องคืนได้ใช่หรือไม่
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12, 193/14 (1), 193/33 (1) (2), 204 วรรคสอง, 381 และ 383 วรรคหนึ่ง
การให้คำปรึกษา
กรณีตามปัญหามีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าหนี้เงินกู้ตามคำฟ้องของโจทก์(ผู้ให้กู้)ขาดอายุความหรือไม่ สัญญากู้ยืมเงินที่กำหนดให้ต้องชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ๆ ละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทในวันทำการสุดท้ายของทุกเดือนติดต่อกัน และจะต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 72 เดือน นับแต่เดือนที่ผู้กู้ได้เบิกเงินกู้เป็นต้นไป ย่อมถือได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกำหนดวิธีชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินโดยผ่อนทุนเป็นงวด ๆ ตามมาตรา 193/33 (2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 5 ปี (เทียบฎีกาที่ 9842/2542, 134/2551)
เมื่อสัญญากู้ยืมเงินไม่มีข้อตกลงว่า หากผู้กู้ผิดนัดงวดหนึ่งงวดใด ถือว่าผิดนัดทั้งหมดได้หรือหนี้ทั้งหมดนั้นถึงกำหนดชำระอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องในหนี้ทั้งหมดได้ตั้งแต่เมื่อผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง หนี้ทั้งจำนวนจึงมีอายุความ 5 ปี นับแต่งวดที่ผิดนัดในงวดนั้น ๆ ส่วนงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ (เทียบฎีกาที่ 1960/2538 และ 2316/2550)
การเริ่มนับอายุความ ตามมาตรา 193/12 กำหนดให้นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป หรือในเวลาที่หนี้ถึงกำหนดชำระ ตามสัญญากู้ยืมเงินมีดอกเบี้ยที่กำหนดให้ชำระเป็นงวด ๆ ตามสัญญาเงินกู้มีกำหนดชำระแน่นอน เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง ถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยเจ้าหนี้ไม่ต้องเตือนเลย ดังนั้น วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องหรือวันเริ่มนับอายุความต้องพิจารณาเป็นงวด ๆ ไปว่าแต่ละงวดเมื่อนับถึงวันฟ้องเกินกว่า 5 ปีหรือไม่ หากเกินก็จะขาดอายุความในส่วนที่เกิน
จากข้อเท็จจริง จำเลยเบิกเงินกู้ทั้งหมดในวันที่ 8 มิถุนายน 2553 กำหนดจ่ายดอกเบี้ยงวดแรกคือวันที่ 30 มิถุนายน 2553 และจำเลยได้ผ่อนชำระเงินกู้เรื่อยมาจนถึงงวดที่หก ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 เมื่อจำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา อันเป็นดอกเบี้ยค้างส่งหรือค้างชำระ ตามมาตรา 193/33 (1) ซึ่งมีอายุความ 5 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในดอกเบี้ยจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 การที่จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ในวันที่ 11 ตุลาคม 2554 จึงเป็นเหตุให้อายุความในดอกเบี้ยค้างชำระตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2554 สะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ ตามมาตรา 193/14 (1) ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 อย่างไรก็ดี เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งเพื่อเรียกให้ชำระดอกเบี้ยค้างจ่ายงวดเดือนในวันที่ 27 สิงหาคม 2562 อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเกินกว่า 5 ปีแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยชำระดอกเบี้ยค้างชำระในส่วนนี้ได้
การที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์นับตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2554 โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แต่ละงวดได้ตั้งแต่ครบกำหนดที่จำเลยต้องชำระหนี้ในงวดนั้น ๆ สิทธิเรียกร้องในงวดใดที่พ้นอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังแต่วันฟ้องขึ้นไปจึงเป็นอันขาดอายุความ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 27 สิงหาคม 2562 โจทก์จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องนับตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2557 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ซึ่งยังไม่ขาดอายุความ
ส่วนข้อตกลงที่ว่าหากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ยินยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินกู้คงเหลือ อันเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ตามมาตรา 381 จึงไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างส่ง ตามมาตรา 193/33 (1) เมื่อหนี้เงินกู้ยืมตามฟ้องโจทก์มีอายุความ 5 ปี เบี้ยปรับอันเกิดจากการไม่ชำระเงินกู้ยืมอันเป็นหนี้อุปกรณ์ จึงมีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกับหนี้ประธาน ไม่ใช่กรณีที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นไม่ได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้อันจะต้องนำอายุความ 10 ปีตามมาตรา 193/30 มาใช้บังคับแต่อย่างใด (เทียบฎีกาที่ 9528/2557)
กล่าวโดยสรุป หนึ้เงินกู้ยืมและดอกเบี้ยตามฟ้องโจทก์ เป็นหนี้เงินที่ต้องชำระผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีอายุความ 5 ปี โดยสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเริ่มนับตั้งแต่งวดที่ผิดนัดในงวดนั้น ๆ ส่วนงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ โจทก์ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลย โดยสามารถฟ้องบังคับหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยนับตั้งแต่งวดวันที่ 31 สิงหาคม 2557 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ตามมาตรา 193/33 (2) ส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เป็นหนี้ที่ขาดอายุความแล้ว นอกจากนี้ โจทก์ยังมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนั้นในอัตราร้อยละ 10 ต่อปีของต้นเงินที่โจทก์มีสิทธิฟ้องร้องบังคับได้ ตามมาตรา 381 อย่างไรก็ดี ในส่วนของเบี้ยปรับนี้ ถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง