การทำการแทนผู้เยาว์
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องต้องการขายที่ดินที่อยู่ในจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้ร้องและพี่น้องของผู้ร้อง แต่เนื่องจากเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนหนึ่งยังมีสถานะเป็นผู้เยาว์ มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านที่จังหวัดปราจีนบุรี และอาศัยอยู่กับมารดา ปัจจุบันบิดาและมารดาของผู้ร้องแยกกันอยู่ โดยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า
ประเด็นคำถาม
- ขั้นตอนและวิธีการขายอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย ซึ่งมีผู้เยาว์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย
- เขตอำนาจศาลในการยื่นคำร้อง
- ต้องได้รับความความยินยอมจากบิดาของผู้เยาว์หรือไม่
- ตัวอย่างการเขียนคำร้องและความจำเป็นในการว่าจ้างทนายความ
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501, 1514, 1515, 1566, 1574 (1)
การให้คำปรึกษา
ในกรณีที่บิดามารดาของผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ซึ่งการสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยการตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 การหย่านั้นย่อมจะทำได้โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายและจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนหย่าแล้วเท่านั้น หรือโดยคำพิพากษาของศาล ตามป.พ.พ. มาตรา 1514 และ 1515 อย่างไรก็ดี แม้ว่าบิดามารดาของผู้ร้องจะแยกกันอยู่แต่ยังไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนหย่า หรือศาลพิพากษาให้หย่า ย่อมไม่มีผลทำให้การสมรสสิ้นสุดลง
ส่วนอำนาจปกครองบุตร เมื่อไม่ปรากฏว่าบิดาของผู้ร้องถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา หรือบิดาและมารดาตกลงกัน (กรณีมีบันทึกท้ายการจดทะเบียนหย่า) ดังนั้น บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของทั้งบิดาและมารดา ตามป.พ.พ. มาตรา 1566 และอำนาจปกครองนั้น รวมถึงการจัดการทรัพย์สินของบุตรด้วย และต้องจัดการทรัพย์สินนั้นด้วยความระมัดระวังเช่นวิญญูชนพึงกระทำ ตามป.พ.พ. มาตรา 1571 อย่างไรก็ดี กฎหมายได้กำหนดข้อจำกัดสิทธิไว้หลายประการเกี่ยวกับการทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ของผู้ใช้อำนาจปกครองว่าจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต รวมถึงการขายซึ่งอสังหาริมทรัพย์ด้วย ตามป.พ.พ. มาตรา 1574 (1) หากผู้ใช้อำนาจปกครองดำเนินการด้วยตนเองหรือหลีกเลี่ยงโดยการให้ผู้เยาว์เป็นผู้กระทำเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน นิติกรรมการซื้อขายที่ดินย่อมไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์
ประเด็นคำถามที่ 1 2 และ 3
การยื่นคำร้องขอทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิของผู้เยาว์และครอบครัว จึงเป็นคดีครอบครัว อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว โดยบิดามารดาของผู้เยาว์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่ที่ดินตั้งอยู่ในเขตศาล การยื่นคำร้องเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์แทนผู้เยาว์นั้น มีข้อพิจารณาที่สำคัญ คือ ต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้เยาว์มากที่สุด โดยต้องมีเหตุจำเป็นจริง ๆ เช่น นำไปเป็นค่าการศึกษาเล่าเรียนของบุตรผู้เยาว์ เป็นต้น หากศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นตามคำร้อง ศาลมักจะไม่อนุญาต และผู้ยื่นคำร้องจะต้องไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานสถานพินิจและคุ้มครองเด็กภายใน 15 วันนับแต่วันยื่นคำร้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความเห็นต่อศาล และต้องให้ผู้เยาว์เบิกความต่อศาลเพื่อยืนยันว่ายินยอมให้กระทำการแทนด้วย นอกจากนี้ ในเรื่องการเบิกจ่ายหรือการเก็บรักษาเงินนั้น ศาลอาจมีคำสั่งให้สถานพินิจและคุ้มครองเด็กมีอำนาจจัดการควบคุมดูแล และตรวจสอบได้ เว้นแต่ผู้ร้องจะแสดงให้ศาลเห็นว่าการขอเบิกเงินจากสถานพินิจฯนั้นจะเป็นการไม่สะดวก ศาลก็อาจไม่มีคำสั่งให้สถานพินิจฯเป็นผู้เก็บรักษาเงินก็ได้
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ขายที่ดินของผู้เยาว์ได้ ในการจดทะเบียนขายที่ดินของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้เยาว์ (อายุ 7 ปีขึ้นไป) ย่อมต้องไปที่สำนักงานที่ดินด้วยกัน เว้นแต่ในคำสั่งศาลที่สั่งให้ทำนิติกรรมขายที่ดินของผู้เยาว์ ศาลจะสั่งไว้ด้วยว่าให้ผู้ใช้อำนาจปกครองทำการขายที่ดินแทนผู้เยาว์ ซึ่งกรณีนี้ผู้เยาว์ไม่ต้องไปที่สำนักงานที่ดิน เนื่องจากผู้ใช้อำนาจปกครองสามารถทำการแทนผู้เยาว์ตามคำสั่งศาลได้
กล่าวโดยสรุป หากผู้ร้องต้องการขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ และมีซื่อน้องของผู้ร้องซึ่งยังเป็นผู้เยาว์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวด้วยนั้น จะต้องให้บิดามารดากระทำการแทนโดยยื่นคำร้องขอทำนิติกรรมขายที่ดินของผู้เยาว์ โดยอยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งศาลที่มีอำนาจพิจารณา คือ ศาลที่ที่ดินตั้งอยู่ในเขตศาล โดยในคำร้องจะต้องแสดงเหตุจำเป็นในการขายที่ดินของผู้เยาว์ พร้อมแสดงพยานหลักฐานประกอบด้วย เช่น ผู้ร้องมีหนี้สินจำนวนมาก (พร้อมแสดงสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาเช่าซื้อ และค่าใช้จ่ายที่เป็นหนี้สินอื่น ๆ) และต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ ให้การศึกษา (พร้อมหนังสือรับรองสถานศึกษา บัตรประจำตัวนักเรียน) และมีค่าใช้จ่ายจำเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน (ถ้ามี) และหากศาลมีคำสั่งให้ขายที่ดินได้ ผู้ร้องก็สามารถนำคำสั่งศาลไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการซื้อขายตามกฎหมายต่อไป