การปกปิดข้อมูลการทำสัญญาประกันชีวิต
ข้อเท็จจริง
เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้ ข้าพเจ้ามีข้อสงสัยว่ากรณีที่บุคคลได้ทำประกันชีวิตกับตัวแทนบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง โดยที่บุคคลดังกล่าว (ผู้เอาประกัน) ปกปิดเรื่องนี้เป็นความลับต่อทางทางครอบครัว โดยข้อเท็จจริงไม่ชัดเจนว่าผู้เอาประกันทราบเกี่ยวกับการปกปิดดังกล่าวหรือไม่
เมื่อกรมธรรม์ครบสัญญา 20 ปี ตัวแทนบริษัทประกันชีวิตได้โทรศัพท์ไปยังบ้านของผู้เอาประกัน แต่ผู้เอาประกันไม่อยู่ ตัวแทนบริษัทประกันชีวิตจึงได้แจ้งกับพี่ชายผู้เอาประกัน เรื่องเงินครบกำหนดสัญญา รวมถึงจำนวนเงินที่ผู้เอาประกันจะได้รับจากกรมธรรม์นั้น เมื่อผู้เอาประกันกลับถึงบ้าน พี่ชายจึงได้สอบถามถึงเรื่องการทำสัญญาประกันชีวิต ทำให้ผู้เอาประกันรู้สึกไม่พอใจต่อการกระทำของทางตัวแทนบริษัทประกันชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะเงินที่ผู้เอาประกันจะได้รับจากการส่งเบี้ยประกันชีวิตตลอด 20 ปีนั้น อาจต้องตกเป็นกองกลางของครอบครัวไป ซึ่งเป็นข้อตกลงในครอบครัว
ประเด็นคำถาม
1. ข้อมูลการทำประกันชีวิตที่ทางตัวแทนของบริษัทได้แจ้งกับพี่ชายของผู้เอาประกันนั้นถือเป็นการละเมิดในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลกับบุคลที่สาม หรือมีความเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายมาตราอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ อย่างไร
2.หากผู้เอาประกันได้ตกลงกับตัวแทนบริษัทประกันชีวิตในเรื่องเกี่ยวกับการปกปิดข้อมูลเป็นความลับกับทางครอบครัว ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร
ข้อกฎหมาย
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 4 และมาตรา 6
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 และ 222
การให้คำปรึกษา
ในกรณีปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2 560 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นมีวัตถุประสงค์ให้องค์กร หน่วยงาน หรือในทางกฎหมายเรียกว่า “นิติบุคคล” มีมาตรฐานในการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเหมาะสมและเพียงพอเมื่อมีความจำเป็นต้องขอใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบไปถึงการรักษาความลับ ความถูกต้องสมบูรณ์ และความพร้อมใช้งานของข้อมูลส่วนบุคคล
หากพิจารณาตามมาตรา 6 ในพระราชบัญญัตินี้ คำว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” หมายถึง ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ ดังนั้นข้อมูลบุคคลจึงหมายถึง ข้อมูลที่เป็น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน อีเมล ลายนิ้วมือ หรือ IP address เป็นต้น ที่เป็นข้อมูลที่สามารถระบุถึงตัวตนของบุคคลนั้น ๆ ได้ อีกทั้งในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้จะไม่ใช้บังคับ หรือไม่ควบคุมในกรณีดการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น
ประเด็นคำถามที่ท่านถามมา สามารถพิจารณาผลทางกฎหมายได้ ดังนี้
1. ข้อมูลการทำประกันชีวิตกับตัวแทนบริษัทประกันชีวิตนซึ่งผู้เอาประกันได้ปกปิดเรื่องการทำประกันชีวิตต่อครอบครัวของตนนั้นไม่ถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามคำนิยามของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เมื่อข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล ตัวแทนบริษัทประกันชีวิตจึงไม่มีความหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายมาตราอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
2. หากมีข้อตกลงระหว่างผู้เอาประกันและตัวแทนบริษัทประกันชีวิตว่าให้ปกปิดข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นข้อสัญญา คือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันชีวิต ข้อตกลงดังกล่าวจึงก่อให้เกิดหน้าที่งดเว้นกระทำการแก่ตัวแทนบริษัทประกันชีวิต คือมีหน้าที่ต้องไม่แจ้งข้อมูลการทำประกันชีวิตของผู้เอาประกันต่อบุคคลในครอบครัว เมื่อตัวแทนบริษัทประกันชีวิตทำผิดข้อสัญญาดังกล่าว จึงเกิดความรับผิดและผู้เอาประกันสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้