การอุทธรณ์คดีแรงงาน
ข้อเท็จจริง
ข้าพเจ้าเป็นแพทย์ประจำคลินิกความงามโดยมีการตกลงรายละเอียดการทำงานผ่านทางสื่อออนไลน์ (ไลน์) โดยทำงานสามวันต่อสัปดาห์ เวลาบ่ายโมงถึงสองทุ่ม ต่อมาถูกเลิกจ้าง ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำฟ้องเพื่อเรียกค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายและเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน อย่างไรก็ดี ศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 โดยให้เหตุผลว่าการทำงานของข้าพเจ้าเป็นการจ้างทำของ
ข้าพเจ้าจึงได้ทำการยื่นคำร้องขยายเวลาอุทธรณ์ โดยอุทธรณ์ได้ถึงวันสุดท้ายในวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยข้าพเจ้าเข้าใจว่าการอุทธรณ์ทำได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น
ประเด็นคำถาม
ข้าพเจ้าจะสามารถทำการอุทธรณ์ได้หรือไม่ และจะมีแนวทางในการอุทธรณ์อย่างไร
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575, 587
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5(1) (2), 118(1) (2) (3) (4) (5)
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54, 56
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
การให้คำปรึกษา
1. การอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย ตามมาตรา 54 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน หมายถึงการอุทธรณ์ที่คัดค้านข้อวินิจฉัยของศาลที่เกี่ยวกับการตีความหรือการปรับบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้อยคำหรือข้อความในเอกสาร รวมถึงข้อวินิจฉัยของศาลที่เกี่ยวกับปัญหาว่าจำใช้บทบัญญัติมาตราใดหรือกฎหมายฉบับใดเพื่อปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานฟังได้ในคดีนั้น
2. โดยไม่อาจอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานในข้อเท็จจริงได้ รวมถึงดุลยพินิจในการรับฟัพยานหลักฐานของศาลแรงงาน ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน อีกทั้งไม่สามารถนำสืบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากที่สืบไปแล้วเว้น แต่ศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษจะสั่งให้ศาลแรงงาน ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ตามที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษแจ้งไป ตามมาตรา 56 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
3. ทั้งนี้ อาจอุทธรณ์โดยชี้ว่าข้อเท็จจริงที่ได้นำสืบไปในชั้นศาลแรงงานนั้นเป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งแตกต่างจากสัญญาจ้างทำของดังนี้
ตามมาตรา 575 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบมาตรา 5 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน คู่สัญญาในสัญญาจ้างแรงงานเรียกว่านายจ้าง - ลูกจ้าง โดยลูกจ้างจะทำงานตลอดไปจนเลิกสัญญา การทำงานจะถือตามระยะการทำงานเป็นสำคัญ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างตามกำหนดเวลาที่ตกลงกัน นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้าง สามารถลงโทษทางวินัยลูกจ้างได้ ลูกจ้างไม่ต้องจัดหาเครื่องมือในการทำงานและไม่ต้องส่งมอบรวม นิติสัมพันธ์ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน
ตามมาตรา 587 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยผู้รับจ้างจะทำงานจนสำเร็จ การทำงานจะถือตามผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ ผู้ว่าจ้างจะจ่ายสินจ้างเมื่อการงานเสร็จ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาผู้รับจ้างไม่สามารถลงโทษทางวินัยผู้รับจ้างได้ ผู้รับจ้างต้องจัดหาเครื่องมือในการทำงานและต้องส่งมอบรวม นิติสัมพันธ์ทั้งหมดนี้ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน
4. อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณามาตรา 54 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ประกอบ มาตรา 225 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อกฎหมายที่ข้าพเจ้ายกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความ คือ ข้าพเจ้าในฐานะโจทก์และนายจ้างในฐานะจำเลยจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน และต้องเป็นสาระแก่คดีอันสมควรได้รับการวินิจฉัย มีผลที่อาจทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนไปโดยมีนัยยะสำคัญ